เป็น LGBTQ+ ในจีนนั้นแสนลำบาก แต่ก็มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิความหลากหลายมากขึ้น

by | Sep 14, 2020 | News | 0 comments

เป็น LGBTQ+ ในจีนนั้นแสนลำบาก แต่ก็มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิความหลากหลายมากขึ้น
.
Byline : ริงโกะ มิโมซ่า
.
โปรย – ในประเทศจีน เส้นทางของผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือชาว LGBTQ+ อาจจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่พวกเขาและพวกเธอต่างก็กำลังต่อสู้ในหนทางของตัวเองเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้น หนึ่งในผู้ที่ต่อสู้เรื่องนี้คือยิงซิน แพนเซ็กชวลผู้นำกลุ่ม LGBTQ+ ในจีนที่ต่อสู้กับอคติในสังคม เธออยากให้ผู้คนมองเรื่องความหลากหลายทางเพศไปพร้อมๆ กับสภาวะเผชิญการกดขี่แบบทับซ้อนที่เรียกว่า Intersectional ด้วย
.
ถึงแม้ว่าการรักเพศเดียวกันจะไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายในประเทศจีนและไม่มีการตีตราว่าเป็นโรคทางจิตมานานแล้ว แต่ทว่าในเชิงการยอมรับทางสังคมนั้นชาว LGBTQ+ ในจีนยังต้องเผชิญกับการกีดกัน การเลือกปฏิบัติ และการถูกข่มขู่ด้วยความรุนแรงอยู่ ทั้งจากรัฐบาลจีนและจากผู้คนในสังคมด้วยกันเอง
.
อย่างไรก็ตามในประเทศจีนมีประชาชนชาว LGBTQ+ ส่วนหนึ่งที่พยายามต่อสู้ในเรื่องนี้ หนึ่งในนั้นคือกลุ่มของยิงซิน (Ying Xin) ผู้อำนวยการบริหาร “ศูนย์แอลจีบีทีปักกิ่ง” ยิงซินเกิดที่เมืองเล็กในมณฑลหูเป่ย เธอดำรงตำแหน่ง ผ.อ. ของกลุ่มมาเป็นเวลา 7 ปีแล้ว
.
ศูนย์แอลจีบีทีปักกิ่งเป็นองค์กรที่คอยให้การสนับสนุน LGBTQ+ รวมทั้งกลุ่มเยาวชน และเป็นปากเสียงคอยเรียกร้องสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันในสังคมจีนก็เริ่มมีคนที่แสดงตัวเป็น LGBTQ+ มากขึ้นแม้ว่าวัฒนธรรมจีนมักจะบีบเค้นให้ชุมชนคนหลากหลายทางเพศต้องปกปิดตัวเองก็ตาม
.
ยิงซินพูดถึงสถานการณ์ในจีนว่าพวกเขาไม่สามารถจัดการเดินขบวนไพรด์ได้เพราะนโยบายของจีนในปัจจุบันที่จำกัดการชุมนุมของประชาชน แต่พวกเขาก็มีไพรด์หรือ “ความภาคภูมิใจ” ในรูปแบบอื่น
.
นอกจากกลุ่มของยิงซินแล้ว ในจีนยังมีนักกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นปากเสียงให้กับผู้มีความหลากหลายทางเพศทั่วประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคอมมอนแลงเกจ, สถาบันเพศสภาพ, PFlag, กลุ่มสิทธิความเท่าเทียมแอลจีบีทีในจีน และกลุ่มรณรงค์เพื่อสิทธิคนข้ามเพศ ซึ่งคนจากองค์กรเหล่านี้เปรียบเสมือนสหายร่วมการต่อสู้เพื่อสิทธิ LGBTQ+ สำหรับยิงซิน
.
สื่อดิแอตติจูดจากอังกฤษสัมภาษณ์ยิงซินไว้ในหลายเรื่องตั้งแต่เรื่องส่วนตัวของเธอ เช่นการเปิดตัวเพศวิถีของตัวเอง ไปจนถึงเรื่องการที่เธอทำให้ศูนย์แอลจีบีทีปักกิ่งกลายเป็นพื้นที่แสดงออกโดยไม่ถูกกลั่นแกล้ง (safe space) ของชุมชน LGBTQ+ ที่ใหญ่ที่สุดในจีน
.
ยิงซินเล่าว่าเธอเริ่มรู้ตัวว่าเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศมาตั้งแต่อายุ 8 ขวบแล้ว ครอบครัวเธอห้ามไม่ให้เธอทำอะไรหลายอย่างเพราะว่าเธอเป็นผู้หญิงแต่เธอไม่อยากเป็นผู้หญิงในแบบที่ครอบครัวเธอบอกให้เป็น เธอรู้สึกว่าตัวเองสามารถรักคนอื่นได้โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นเพศใด ทว่าในตอนนั้นเธอยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเรื่อง LGBTQ+ ทำให้เธอยังสับสน จนกระทั่งเพิ่งมาเข้าใจเรื่องนี้ภายหลังเมื่อเธอได้เข้ามหาวิทยาลัยแล้ว
.
ยิงซินเริ่มเปิดตัวกับเพื่อนของเธอในสมัยที่อยู่มหาวิทยาลัย เธอได้พบกับกลุ่มพูดคุยออนไลน์ในมหาวิทยาลัยและได้พบกับเพื่อนชาวเกย์ชาวเลสเบียนที่นั่น ตอนแรกเธอเรียกเพศวิถีของตัวเองว่าเป็นไบเซ็กชวล ในเวลาต่อมาถึงเปลี่ยนมาเรียกเป็นแพนเซ็กชวล ในตอนนั้นเธอได้รู้จักกับผู้ชายคนหนึ่งที่เธอชอบและพบว่าต่อมาเขาเป็นเกย์ เรื่องนี้ทำให้เธอนึกถึงตอนที่เธอยังเป็นวัยรุ่นอยู่ ยิงซินเล่าว่าเธอเองมีความรู้สึกชอบต่อผู้หญิงด้วย ชายเกย์คนที่เธอชอบคนนั้นเองกลายเป็นแรงส่งให้เธอมีความกล้าที่จะเปิดเผยตัวเอง หลังจากนั้นยิงซินก็เริ่มเปิดเผยเรื่องเพศวิถีของตัวเองให้คนอื่นรับรู้มากขึ้นทั้งคนรู้จักและกับคนที่เพิ่งเจอเธอเป็นครั้งแรก
.
การเปิดตัวกับคนที่เพิ่งเคยเห็นหน้าทำให้ยิงซินพบว่าผู้คนมีปฏิกิริยาน่าสนใจ เช่น คนขับอูเบอร์รายหนึ่งได้ฟังเรื่องราวของยิงซินเมื่อถึงที่หมายแล้วเขาก็บอกยิงซินว่าอยากฟังเรื่องราวของเธอมากกว่านี้ เขาบอกว่าสาเหตุที่คนเกลียดกลัวอย่างไม่มีเหตุผลต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้นเป็นเพราะผู้คนเหล่านั้นขาดความรู้ความเข้าใจ ถ้าหากว่ามีการให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับประเด็น LGBTQ+ มากพอ เกี่ยวกับเรื่องความหลากหลายมากพอ ผู้คนก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้
.
ยิงซินเล่าต่อไปว่าในตอนที่เธอเปิดตัวกับครอบครัวนั้น ตอนแรกแม่เธอคิดว่าเธอพูดล้อเล่น แต่เมื่อรู้ว่าเธอไม่ได้ล้อเล่นแม่ของเธอก็โกรธและบอกว่า “ฉันไม่คิดมาก่อนว่าจะมีลูกสาวที่เป็นพวกแปลกประหลาดเช่นนี้” และดุว่า “เธอไม่อายเหรอที่จะทำอะไรแบบนั้นกับผู้หญิงด้วยกัน” ยิงซินเปิดตัวกับครอบครัวตอนที่เธออายุได้ 24 ปีแล้ว เธอโต้ตอบแม่ว่าแล้วทำไมแม่ถึงคิดว่าการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคู่รักต่างเพศถึงมีความเลิศเลอกว่า แต่เนื่องจากแม่ของเธอตีตราและรังเกียจการพูดถึงเรื่องเพศจึงไม่ได้ตอบเธอ อย่างไรก็ตามครอบครัวของยิงซินก็ค่อยๆ ยอมรับเธอมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงขั้นช่วยปกป้องเพศวิถีของเธอเวลาเจอคำถามเรื่องการแต่งงานจากญาติ นั่นทำให้เธอรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ไม่เพียงแค่แม่ยอมรับแต่ยังมีอิสระในเรื่องนี้ด้วย
.
ทว่า ในสำหรับสภาพสังคมจีน ชาว LGBTQ+ ยังต้องเผชิญกับความยากลำบาก จากสถิติของมหาวิทยาลัยปักกิ่งและโครงการพัฒนาของสหประชาชาติเมื่อปี 2559 ระบุว่ามีชาว LGBTQ+ ที่เปิดเผยตัวเองเพียงร้อยละ 5.1 เท่านั้นในที่ทำงานของจีน ขณะที่คนข้ามเพศร้อยละ 97 ต้องเผชิญกับความรุนแรงจากครอบครัว นอกจากนี้ชาว LGBTQ+ ในจีนยังมักจะต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยทางใจมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด คนข้ามเพศไม่สามารถเข้าถึงการผ่าตัดแปลงเพศและฮอร์โมนเพศได้เพราะขาดแคลนแพทย์ที่รองรับการข้ามเพศ
.
อีกเรื่องหนึ่งคือความเหลื่อมล้ำระหว่างคนเมืองกับคนชนบทในจีนจากการที่คนในเมืองใหญ่อย่างปักกิ่งจะเปิดตัวได้ง่ายกว่าเทียบกับชนบท นอกจากนี้ยังมีเรื่องทางการเมืองที่ปิดกั้นชาว LGBTQ+ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเซนเซอร์ชาว LGBTQ+ ที่ทำให้คนหลากหลายทางเพศไม่มีตัวตนปรากฏตามสื่อหรือภาพภาพยนตร์ต่างๆ เรื่องที่ในจีนไม่มีกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศทำให้สิทธิของ LGBTQ+ ไม่ได้รับความคุ้มครอง รวมถึงไม่มีกฎหมายรองรับการสมรสเท่าเทียมด้วย
.
จุดที่จีนมีความก้าวหน้าเรื่องความหลากหลายทางเพศอยู๋บ้าง คือเรื่องที่มีการยกเลิกกฎหมายห้ามการรักเพศเดียวกันมาตั้งแต่ปี 2540 มีการทำให้การรักเพศเดียวกันไม่ถูกจัดเป็นอาการป่วยทางจิตอีกต่อไปตั้งแต่ปี 2544 คนข้ามเพศจะสามารถเปลี่ยนแปลงเพศตัวเองในบัตรประชาชนได้แต่ก็ยังมีเงื่อนไขว่าจะต้องผ่านการผ่าตัดแปลงเพศก่อน ผิดกับไต้หวันหรือประเทศอื่นๆ ที่ก้าวหน้าในเรื่องนี้มากกว่าทำให้คนข้ามเพศสามารถเปลี่ยนเพศในบัตรประจำตัวได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการผ่าตัดก่อน และเมื่อปี 2561 ก็มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายแพ่งที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถอุปการะบุตรบุญธรรมในบางเมือง
.
ยิงซินชี้ให้เห็นว่าปัญหาที่ชาว LGBTQ+ ในจีนเผชิญมาจากการขาดการศึกษาเรื่องความหลากหลายทางเพศ ไม่มีกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิของพวกเขา การเซนเซอร์เรื่องเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ การที่องค์กรด้านความหลากหลายทางเพศไม่สามารถจดทะเบียนเป็นองค์กรที่ไม่ใช่ของรัฐได้ทำให้มีอุปสรรคมากในการหางบประมาณ และสุดท้ายคือการที่รัฐบาลจีนมักจะมองว่าเรื่อง LGBTQ+ “เป็นประเด็นของอุดมการณ์แบบตะวันตก”
.
เนื่องจากในจีนยังไม่มีพื้นที่แสดงออกโดยไม่ถูกกลั่นแกล้ง ก่อกวน หรือตีตรา แบบที่เรียกว่า “safe space” ทำให้มี 5 องค์กรที่เกี่ยวกับเรื่อง LGBTQ+ ร่วมกันจัดตั้งศูนย์แอลจีบีทีปักกิ่งขึ้นในปี 2551 หลังจากนั้นเมื่อผู้จัดตั้งศูนย์หลายคนลาออกไปก็ทำให้องค์กรนี้กลายเป็นองค์กรอิสระ ยิงซินก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในกรรมการบอร์ด และกลายเป็นผู้อำนวยการบริหารในเวลาต่อมา
.
ในตอนที่ยิงซินอยู่ในองค์กรศูนย์แอลจีบีทีปักกิ่งเธอทำโครงการเกี่ยวกับการลดอคติที่มองเรื่องความหลากหลายทางเพศเป็น “อาการป่วย” (de-pathologisation campaign) โดยหลักๆ แล้วเธอเน้นให้การศึกษากับนักจิตวิทยาเกี่ยวกับอันตรายเรื่องความเชื่อว่า “เกย์สามารถรักษาได้” ซึ่งเป็นความเชื่อผิดๆ และมีแต่จะสร้างความเจ็บปวดบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ งานอื่นๆ ที่เธอทำคือการจัดทำแบบสำรวจเกี่ยวกับ LGBTQ+ ในจีน และโครงการสนับสนุนคนข้ามเพศ สิ่งที่เธอกับเพื่อนร่วมทีมประสบความสำเร็จจนถึงตอนนี้คือการทำประเด็นเรื่องสุขภาพจิต, สิทธิคนข้ามเพศ และส่งเสริมความหลากหลายในวงธุรกิจ
.
ถึงแม้จีนจะเต็มไปด้วยอุปสรรค แต่ยิงซินก็มีความหวัง เธอหวังว่าจะมีคนร่วมมือกันรณรงค์เรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศมากกว่านี้ ในแง่ดีคือตอนนี้มีคนรุ่นใหม่ที่กล้าหาญและเปิดตัวมากขึ้นในเรื่องเพศ ทั้งนี้ยิงซินออกตัวว้า นั่นไม่ได้หมายความว่าควรจะมีการบีบบังคับให้เปิดตัวเองเพราะแต่ละคนมีเรื่องราวชีวิตของตัวเองต่างกัน จึงต้องคำนึงถึงสภาพของแต่ละคนด้วย
.
ยิงซินบอกว่าอยากให้แต่ละคนช่วยกันผลักดันทีละเล็กละน้อยเพื่อทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการเป็นอาสาสมัคร การบริจาค หรือในแง่อื่นๆ เธอหวังให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายในจีนเรื่อง LGBTQ+ นอกจากนี้ยังหวังให้คนมองเรื่อง LGBTQ+ ว่าไม่ใช่เรื่องของเพศวิถีอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของสภาวะเผชิญการกดขี่แบบทับซ้อน (intersectional) ด้วย เช่น การที่บางคนเป็น LGBTQ+ ที่เป็นคนจน เป็นคนชาติพันธุ์ หรือเป็นคนพิการ สภาวะเหล่านี้เป็นสภาวะที่ทับซ้อนกับการถูกกดขี่และถูกเลือกปฏิบัติทางเพศสภาพ-เพศวิถีที่พวกเขาต้องเผชิญอยู่แล้ว
.
“พวกเราควรโอบรับเอาความหลากหลายที่แท้จริงไว้ในวัฒนธรรมของพวกเราและในหัวใจของพวกเรา” ยิงซินกล่าว “ความหลากหลายไม่ใช่แค่สโลแกน แต่มันเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับชีวิตจริงของผู้คน”
.
อ้างอิง:

YoungPrideClub #LGBT #LGBTQ #China #Chinese