“หูยยย ถ้าจะหน้าตาดีขนาดนี้ มาข่มขืนฉันเลยเถอะ” Rape Joke ที่ไม่ตลก แม้ว่าอีกฝ่ายจะล้อให้เราเป็น “ผู้กระทำ” ก็ตาม และการทำให้ปัญหาการข่มขืนดูเป็น “เรื่องเล่นๆ”

by | Nov 20, 2023 | Opinion

ความคิดเห็นทางอินเทอร์เน็ต ที่ฉันอ่านพบตามหน้าสื่อต่างๆ
“หูยยย ถ้าจะหน้าตาดีขนาดนี้ มาข่มขืนฉันเลยเถอะ”
“ถ้าแบบนี้มาข่มขืนฉันเนี่ย มาได้เลย”
ฯลฯ

ในฐานะที่ฉันเป็นทรานส์เลสเบียน ฉันตั้งข้อสังเกตกับอะไรบางอย่างในสังคมไทยมาสักพักหนึ่งแล้ว คือเวลาพูดถึงเรื่องการข่มขืน การคุกคามทางเพศ หรือการล่วงละเมิดทางเพศทีไร มักจะมีลักษณะสองมาตรฐาน เลือกปฏิบัติ กันอย่างไม่น่าเชื่อ

เช่น ตัวอย่างข้อความที่ฉันพูดไว้ข้างต้น ที่พบเจอในโซเชียลมีเดีย คือข้อความที่ผู้หญิงบางคนเห็นผู้ชายหล่อๆ ในรูปหรือในสื่อต่างๆ แล้ว ก็เล่นมุขในแบบที่ว่าจะยอมให้เขา “ข่มขืนได้” (ซึ่งมันก็ชวนให้เราสงสัยอีกว่า ถ้า “ยอมให้ทำ” มันจะนับเป็นการข่มขืนได้จริงเหรอ) ซึ่งแน่นอนว่ามันกลายเป็นการ trivalize ปัญหา หรือก็คือทำให้ปัญหาการข่มขืนดูเป็นเรื่องเล็กน้อย ดูเป็น “เรื่องเล่นๆ”

และตัวฉันเองก็เคยเจอกับ Rape Joke หรือ การเล่นมุขตลกเกี่ยวกับการข่มขืน ทั้งในแบบที่ตัวฉันถูกล้อให้เป็น ”เหยื่อ” และในแบบที่ตัวฉันถูกล้อให้เป็น “ผู้กระทำ”

Rape Joke ที่ล้อให้ฉันเป็นเหยื่อ

ย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงสมัยขาสั้น-คอซอง คือช่วงมัธยมฯ ปลาย ที่ฉันยังต้องสวมกางเกงขาสั้นแบบผู้ชายในโรงเรียนและตัดผม “ให้ถูกกฎโรงเรียน” (พอนึกถึงก็เจ็บเหมือนกัน) จริงๆ คือในตอนนั้นฉันยังงงๆ กับเพศตัวเองในระดับจิตใจอยู่ด้วยซ้ำ แต่ในระดับรูปลักษณ์การแสดงออกภายนอกยัง “ดูเป็นชาย” อยู่

ในตอนนั้นมีการทำกิจกรรมอะไรบางอย่างและให้มีการแบ่งกลุ่มแบบข้ามชั้นปีที่ฉันจำไม่ได้แล้วว่าเป็นกิจกรรมอะไร รู้แค่ว่าจู่ๆ ก็มีกลุ่มรุ่นพี่ผู้ชายกลุ่มหนึ่ง พากันกรูเข้ามาขอร่วมกลุ่มกับฉัน ในตอนนั้นฉันยอมให้พวกเขาเข้ากลุ่มเพราะขี้เกียจจะไปขอร้องเข้ากลุ่มกับคนอื่น ฉันรู้สึกได้ว่าในหมู่รุ่นพี่กลุ่มนี้บางคนมีท่าทีแปลกๆ อธิบายไม่ถูก บางคนก็มองจ้องฉันแทบไม่วางตา แล้วจู่ๆ ก็มีคนนึงพูดขึ้นมาว่า

“ที่พี่มาเข้ากลุ่มอ่ะ ไม่ใช่’ไรหรอก คือเห็นน้องน่ารักดี”

คือมีคนชมว่าน่ารักก็น่าดีใจอยู่หรอกค่ะ แต่แบบ… มันมีอะไรน่ากลัวแปลกๆ

“…คือพี่อยากจับน้องตุ๋ย*อ่ะ”

(* คำว่า “ตุ๋ย” ในความหมายของยุคนั้นคือการร่วมเพศทางทวารหนัก มักจะนำมาใช้พูดถึงชายกับชาย มีทั้งการใช้ในบริบทเชิง straight ใช้เหยียดชายรักชาย หรือในเชิง cis man ใช้อำนาจเหยียดกะเทย หรือกระทั่งคุกคามทางเพศต่อกะเทยแต่งหญิงไปจนถึงคนเพศกำเนิดชายที่ดูออกสาว)

ในตอนนั้นหัวสมองเราจับต้นชนปลายไม่ถูก คือส่วนหนึ่งเราก็มองว่าเอ้อ มันตรงไปตรงมาดี แต่ในเวลาแบบนี้มันใช่ไหม แล้ววิธีการพูดในแบบที่ล่วงล้ำเข้ามาในร่างกายเราแล้วในแบบที่ไม่ได้ขอก่อนแบบนี้ (ถ้าใช้คำว่า “อยากชวนมีอะไรกัน” มันค่อยโอเคหน่อย แต่ฉันก็คงให้ไม่ได้ ฉันไม่ได้ชอบผู้ชาย) มันรู้สึกว่าตัวเองถูกทำให้เปลือยเปล่าต่อหน้าคนที่ไม่อยากให้เห็น ยิ่งมากันเป็นกลุ่มๆ แบบนี้เรายิ่งรู้สึกไม่ปลอดภัย

หลังจากนั้นพวกรุ่นพี่กลุ่มนี้ก็ทำเป็นเหมือนว่าพวกเขาพูดหยอกเล่น แต่มันก็ทำให้ฉันรู้สึกระแวงและไม่อยากเข้าใกล้รุ่นพี่พวกนี้อีกเลยหลังจากจบกิจกรรมในครั้งนั้น

เหตุการณ์นี้น่าจะเป็นครั้งแรกเลยกระมังที่ฉันเผชิญมุขคุกคามทางเพศ ในฐานะผู้ถูกล้อให้เป็น “เหยื่อ” หรือ “ผู้เผชิญการล่วงละเมิดทางเพศ”

นี่ยังไม่นับว่าฉันเคยเผชิญกับการล่วงละเมิดทางเพศจริงตั้งแต่ก่อนหน้าที่ฉันจะเริ่มข้ามเพศแล้ว ผู้หญิงข้ามเพศมี male privilege แบบที่พวก TERFs กล่าวหากันจริงๆ น่ะหรือ?

Rape Joke ที่ล้อให้ฉันเป็นผู้กระทำ

หมุนเข็มนาฬิกาข้ามมาอีกหน่อยในช่วงที่ฉันเพิ่งจะเข้ามหาวิทยาลัยได้ปีแรก (อายุเกิน consent age แล้ว) ในช่วงเทศกาลปีใหม่มีการจัดงานกินเลี้ยงเล็กๆ ในหมู่บ้านเก่าที่ฉันเคยอยู่ มีคนมาร้องเล่นเต้นรำกันตามประสา ตอนนั้นฉันยังแสดงออก “เป็นชาย” อยู่ และยังไม่ได้ข้ามเพศทางกายภาพ

ตัวฉันเป็นคนเก็บตัว และมีวัฒนธรรมรื่นเริงที่ต่างไปจากพวกผู้ใหญ่ เลยไม่ค่อยอินกับวงคาราโอเกะผู้ชายด้านนอกนักจึงขอตัวเข้าไปช่วยในครัว ซึ่งตอนนั้นคนที่อยู่ในครัวจะเป็นผู้หญิงอายุ 30-40 ปี (ซึ่งพูดตามตรงฉันเป็นคนชอบผู้หญิงอายุราวๆ นี้อยู่แล้ว) มีคนหนึ่งที่ทำตัวใกล้ชิดกับฉันซึ่งฉันก็รู้สึกดีด้วยอยู่พอสมควร

พอกลุ่มหญิงวัยกลางคนเสร็จจากงานในครัว เราก็ออกมานั่งกันด้านนอกระหว่างนั้นก็มีคนลุกมาเต้นรำบ้าง แล้วผู้หญิงวัยกลางคนที่ทำตัวใกล้ชิดฉันก็จูงมือฉันไปเต้นรำแบบมีการถูกเนื้อต้องตัวฉันในแบบก้ำกึ่งระหว่างเอ็นดูกับในเชิงรักใคร่ ซึ่งฉันไม่ได้ปฏิเสธอะไรและรู้สึกว่าโอเค จนกระทั่งมีคุณป้าอีกคนหนึ่งโพลงออกมาว่า

“นี่ไปยั่วเด็กมันมากๆ เดี๋ยวมันก็ปล้ำหรอก”

“โอ๋ย จะปล้ำก็มาเลย (หัวเราะ)”

เหล่าหญิงสูงวัยว่าหัวเราะกันสักพักหนึ่ง เธอคนที่เล่นมุขหันมาทางฉัน ตบบ่าเบาๆ แล้วก็บอกว่า “น้าล้อเล่นน่ะลูก”

ในตอนนั้นฉันจำไม่ได้ว่าฉันได้แสดงสีหน้าไปพอใจออกไปตรงๆ หรือเปล่า แต่ฉันรู้สึกแย่ไม่ใช่เพราะการแตะเนื้อต้องตัวของเธอ (พูดจริงๆ คือฉันชอบด้วยซ้ำ) แต่เพราะการเล่นมุขของอีกคนในแบบที่ยังคงทำให้คนมีจู๋อย่างฉันดูเป็นสิ่งชั่วร้ายโสมมที่จะทำให้คนมีจิ๋มแปดเปื้อน ทึกทักเอาเองว่าสิ่งที่คนมีจู๋ทำต้องเป็นการใช้กำลังเท่านั้น สิ่งนี้ต่างหากที่ทำให้ฉันรู้สึกกลืนไม่เข้าคายไม่ออก และรู้สึกรังเกียจตัวเอง

แม้แต่กระทั่งทุกวันนี้มุขแบบนี้ก็ยังไม่หายไป ฉันเพิ่งจะโดนคนเล่นมุขนี้ซ้ำอีกเมื่อไม่นานมานี้เอง (ต.ค. 2566) คนสูงวัยจากยุคก่อนคงขาดความเข้าใจเรื่องการ “ข่มขืน” กันจริงๆ

สังคมไทยยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับคำว่า ‘ข่มขืน’

อะไรแบบนี้ไม่ใช่แค่สิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาการข่มขืนยังถูกทำให้กลายเป็นเรื่องตลกเล็กๆ น้อยๆ แต่ผู้คนยังขาดความเข้าใจเรื่องการข่มขืนด้วย ความหมายของการข่มขืนจริงๆ แล้วคือ การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้มาจาก “การยินยอมร่วมกัน” ของผู้ที่จะมีเพศสัมพันธ์หรือที่เรียกว่า consent ฉันสังเกตเห็นการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวการข่มขื่นแบบเข้าใจผิดๆ หลายอย่าง เช่น

– เข้าใจ(ผิด)ว่าการข่มขืนหมายถึงการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้รักกัน

เป็นความเข้าใจที่ผิด ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กันโดยไม่ได้มีความรักโรแมนติกหรือรักแบบชู้สาวก็สามารถกระทำได้ตราบใดที่ทั้งสองฝ่าย (หรือมากกว่านั้น) ยินยอมพร้อมใจร่วมกันทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่ฝ่ายเดียวบีบบังคับให้ทำ

– เข้าใจ(ผิด)ว่าการที่คนมีจิ๋มมีความอยากทางเพศต่อคนมีจู๋เป็นการที่ต้องการให้บุคคลคนๆ นั้น “ข่มขืน” พวกเขา

– เข้าใจ(ผิด)ว่าการข่มขืนหมายถึงการนอกใจ

ปัญหาการนอกใจนี่ก็อีกเรื่องหนึ่ง การไปมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นนอกจากคู่ตัวเองโดยไม่ได้บอกและไม่ได้รับความยินยอมจากคู่ตัวเอง แต่ได้รับความยินยอมจากคู่นอนคนนั้น จะเรียกว่า cheating หรือ การนอกใจ

(แต่ขณะเดียวกันมันก็มีบุคคลที่อาจจะมีความสัมพันธ์แบบ polyamory หรือ ความรักที่มากกว่าแค่ระหว่างสองคนอ ในแบบที่ทุกฝ่ายตกลงร่วมกันจะให้เป็นเช่นนั้น ก็มีอยู่ ซึ่งฉันจะยังไม่พูดถึงในบทความนี้)

ฉันสงสัยมานานแล้วว่า ความผุพังและล้าหลังของเพศศึกษาในไทยรวมถึงระบอบชายเป็นใหญ่ที่กดทับไม่ให้ผู้หญิงแสดงออกถึงความหื่นได้อย่างปลอดภัยหรือ healthy ทำให้คนมีจิ๋มจำนวนมากรู้สึกไปเองว่าพวกเขาต้องทำตัวเหมือนเป็นฝ่ายรอรับในทางเพศโดยไม่มี agency หรือไม่มีความสามารถในการกำหนดการกระทำและรับผิดชอบโดยตนเอง จนเข้าใจไปว่าคนมีจิ๋ม ต้องทำตัวเป็นภาชนะรองรับเท่านั้น

นั่นทำให้คนมีจิ๋มหลายคนที่รู้สึกหื่นต่อดาราชายหรือใครก็ตามเล่นมุขข่มขืนโดยล้อให้คนมีจู๋คนนั้นเป็น “ผู้กระทำ” ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่เพียงลดทอนภาพความรุนแรงของการข่มขืนเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นการตีตราว่าคนมีจู๋ให้เป็น “ผู้กระทำ” อยู่เสมอ และคนมีจิ๋มเป็น “ผู้ถูกกระทำ” เสมอ นำมาซึ่งความคิดบิดเบี้ยวที่ว่า คนมีจู๋ทั้งหลาย (ทั้งชายตามเพศกำเนิด หญิงข้ามเพศและเพศอื่นๆ) จะเป็น “เหยื่อ” ของการถูกข่มขืนไปไม่ได้ เพราะจู๋ของพวกเราช่างชั่วร้าย โสมม และเป็น “ผู้กระทำ” ได้เท่านั้น

และเมื่อคนมีจู๋ถูกกระทำ มันก็ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องตลก ทำให้กลายเป็นเรื่องเล็กน้อย หรือกระทั้งมีวาทกรรมว่าเป็นเรื่อง “โชคดี” ถ้าหากผู้กระทำ (คนที่ข่มขืนเรา) เป็นคนมีจิ๋ม เพราะคนมีจิ๋มถูกทำให้มีความบริสุทธิ์ผุดผ่องกว่า แต่ขณะเดียวกันก็ถูกตีตราว่าเป็นได้แค่ “เหยื่อ” อย่างเดียว ไม่ได้มี agency ในการกำหนดชะตากรรมตัวเอง

ความบิดเบี้ยวแบบนี้ส่งผลให้เกิดการปิดกั้นต่อผู้หญิง ทำให้เกิดการตีตราต่อผู้หญิง(ที่ไม่ใช่แค่คนมีจิ๋มแต่รวมผู้หญิงข้ามเพศด้วย) ว่า ‘สำส่อน’ หรือ ‘ร่าน’ (ซึ่งนับเป็นการ slut shaming) เวลาที่พวกเธอใช้ agency ของตัวเองโดยไม่กระมิดกระเมี้ยน [1]

ผลลัพธ์ต่อมาคือทำให้เกิดการตกสำรวจเรื่องกรณีข่มขืนของคนเพศอื่นๆ ที่ไม่ใช่หญิงตามเพศกำเนิด (ชายตามเพศกำเนิด, ชายข้ามเพศ, หญิงข้ามเพศ,นอนไบนารี ฯลฯ) เพียงเพราะพวกเขาไม่ได้มีภาพลักษณ์ว่าจะตกเป็นเหยื่อได้ หรือทำให้พวกเขาไม่กล้ารายงานเรื่องการถูกล่วงละเมิดทางเพศเพราะกลัวการตีตราจากสังคมหรือกลัวว่าสังคมจะไม่เชื่อเพราะมองพวกเขาว่าเป็นได้แค่ “ผู้กระทำ” เท่านั้น [2] [3]

ไม่เพียงเท่านั้น มันยังกลายเป็นอุปสรรคในการพูดคุยตกลงกันเรื่องการยินยอมพร้อมใจร่วมกัน (consent) เพราะคนมีจู๋ถูกมองว่าเป็นพวกผู้ล่าอยู่ตลอดเวลาแทนที่จะสอนวิธีทำให้พวกเขาเสนอการมีเพศสัมพันธ์ได้อย่างถูกวิธี โดยไม่มีการตีตรา และครอบคลุมบุคคลที่เป็น neurodivergent (เช่น ออทิสติก, แอสเพอร์เกอร์) ที่มีความยากลำบากในการเข้าใจสัญญาณทางสังคม (social cues) ด้วย ในทางตรงกันข้ามผู้หญิงจำนวนมากถูกสอนว่าพวกเธอเป็นแค่เหยื่ออยู่ตลอดเวลา จนเกิดการตีตราผู้หญิงที่กล้าหาญในการสร้างข้อตกลงเรื่องเพศมากกว่าว่าเป็น “นังร่าน” และทำการ slut shaming พวกเขา

พอพูดถึงตรงนี้แล้ว ฉันเป็นทั้งคนมีจู๋ และเป็นทั้งผู้หญิง

นั่นหมายความว่าฉันเคยโดนตีตราทั้งสองทางนั่นแหละ!

การถูกตีตราซ้ำซ้อนของทรานส์เลสเบียน

ฉันต้องแบกแผลใจของการเผชิญมุขคุกคามทางเพศ ทั้งในฐานะผู้ถูกล้อให้เป็น “เหยื่อ” และในฐานะผู้ถูกล้อให้เป็น “ผู้กระทำ”

ซ้ำร้าย การที่ฉันเป็นผู้หญิงข้ามเพศที่รักหญิง หรือ ทรานส์เลสเบียน ยิ่งมักจะถูกสังคมตีตราซ้ำว่าเป็นพวกลามก เป็นพวกนักล่ากาม เป็นพวกที่อยากล่อลวงเลสเบียน ถึงขั้นมีสื่อใหญ่แห่งหนึ่งตีพิมพ์บทความใส่ร้ายทรานส์เลสเบียนอย่างด้านๆ กล่าวหาว่าทรานส์ “พยายามบีบบังคับให้ cis lesbian ต้อง เดทกับพวกเขา”

คือใส่ความกันเห็นๆ shame on you BBC! [4]

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ทรานเลสเบียนก็เหมือนมนุษย์คนอื่นทั่วๆ ไปนั่นแหละค่ะ ไม่ได้อยากจะบีบบังคับให้ใครมาเดทด้วยถ้าเขาไม่ยินยอม การที่ใครจะบีบให้คนอื่นเดทด้วยมันเป็นเรื่องชองนิสัยใจคอของคนนั้นๆ ไม่เกี่ยวกับอัตลักษณของพวกเขา (พวก cis ก็ทำแบบนี้ได้เหมือนกัน)

เรื่องของการเดทมันก็เหมือนกันการทำข้อตกลงร่วมกันของทั้งสองฝ่ายหรือมากกว่านั้นอยู่แล้วโดยไม่เกี่ยวกับว่าจะเป็น trans หรือ cis

การที่มีคนปฏิเสธจะเดทกับคนๆ หนึ่งบนฐานของอัตลักษณ์ อาจจะตั้งอยู่บนฐานของอคติบางอย่างจริง (ทั้งๆ ที่มีความชื่นชมอย่างอื่น เช่น ทัศนคติ รูปลักษณ์ หรือ บุคลิก) ซึ่งก็น่าเศร้าที่คนๆ หนึ่งให้อคติเรื่องอัตลักษณ์ความเป็นคนข้ามเพศมาบดบังการที่จะได้รู้จักตัวตนของอีกฝ่ายให้มากขึ้น

แต่ในฐานะคนข้ามเพศ ถ้าหากว่ามีใครปฏิเสธคนๆ หนึ่งเพียงเพราะเขาเป็นคนช้ามเพศ ฉันก็คงจะไม่อยากไปฉุดรั้งเขา ในทางตรงกันข้ามคงไม่อยากไปยุ่งกับเขาเลยด้วยซ้ำเพราะไม่ชอบทัศนะแบบ transphobia ของเขาไปแล้ว การตีตราเช่นนี้บวกกับแผลใจจากการถูกล้อให้เป็น “ผู้กระทำ” ในมุขข่มขืน ยิ่งทำให้ฉันเจ็บปวดทวีคูณและกลายเป็นคนพยายามวางตัวแบบปิดกั้นตัวเองทางเพศอย่างหนักโดยเฉพาะเวลาอยู่ในกลุ่มของเลสเบียน ถึงขั้นแสร้งทำเป็นว่าไม่ชอบอ่านเลิฟซีนในนิยายยูริสักเท่าไหร่ ทั้งที่จริงๆ แล้วฉันอ่านได้ในเชิงวิเคราะห์โดยไม่จำเป็นต้องรู้สึกทางกายอะไร แต่ฉันกลัวว่าสังคมจะไม่เชื่อที่ฉันพูด จึงต้องพยายามทำตัวไม่ให้ดู sexual เกินไป

แต่มันช่างน่าอึดอัดเหลือทน เวลาที่มีผู้หญิง cis ซุบซิบฉัน หรือแสดงท่าทีกีดกันฉันเวลาที่ฉันแต่งตัวเซ็กซี่

มันช่างน่าอึดอัดเหลือทนที่ฉันพูดถึงเพศสัมพันธ์ของกะเทยเลสที่ยังมีเดือยกับผู้หญิง cis ไม่ได้ เพราะกลัวจะฟังดู “แรงไป”

มันช่างน่าเจ็บปวดเวลาเจอกลุ่มเรียกร้องประเด็นเซ็กส์ทอย ใช้คำในเชิงตีตราว่าจู๋เป็นสิ่งชั่วร้าย หรือผูกโยงมันกับเพศสภาพ ซึ่งนับเป็นการกีดกันคนข้ามเพศออกจากการสนทนา

มันช่างน่าอึดอัดเหลือทนในสังคมที่แม้กระทั่งเฟมินิสต์ก็ทำให้คนมีจู๋ที่เป็นผู้หญิงอย่างฉันกลายเป็นสัตว์ประหลาดร้ายและเป็นผู้กระทำ แต่คนมีจิ๋มช่างบริสุทธิ์ผุดผ่องและเป็นเหยื่ออยู่ตลอดเวลา

มันช่างน่าอึดอัดเหลือทนที่แม้กระทั่งเฟมินิสต์บางคนยังกล้าประกาศออกสื่อว่าไม่ยอมรับผู้หญิงข้ามเพศเป็นผู้หญิง แต่เป็น “แค่ผู้หญิงข้ามเพศ” [6] แล้วก็เขียนหนังสือที่มีคนแปลภาษาไทยออกมาวางหราแบบไม่อายความคิดแบบใจแคบ (bigotry) ของนักเขียน

งั้นสินะ คนมีจู๋อย่างฉันมันช่างเลวร้าย ต่ำทราม และควรถูกผลักให้เป็นพลเมืองชั้นสามชั้นสี่เท่านั้นในพื้นที่สตรีนิยมอันแสนศักดิ์สิทธิ์ [7] ใช่ไหมล่ะ?

จะเป็นไปได้ไหมที่ผู้หญิงข้ามเพศอย่างฉันจะพูดคุยเรื่องเพศได้โดยไม่ถูกตีตราเพราะการที่ฉันเกิดมาเป็นมีจู๋


References