รู้จักมีนคัน นักกิจกรรมโนบรา กับทุกความเคลื่อนไหวเพื่อความเปลี่ยนแปลงที่ขอแค่คนเดียวก็นับว่าเปลี่ยนแล้ว

by | Nov 8, 2023 | Uncategorized

Young Pride Club x Manushya Foundation

การชุมนุมทางการเมืองไทยระหว่างปี 2563 – 2565 ได้ปลุกกระแสคนรุ่นใหม่ออกมาบอกเล่าประเด็นของตัวเองกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง นับว่าเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตยที่ไม่ใช่เพียงแต่ระบอบการปกครองเท่านั้น แต่ยังเป็นประชาธิปไตยที่ลงลึกลงไปยังประเด็นปลีกย่อย ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง สิทธิมนุษยชน เรื่องเพศ ฯลฯ ที่ถูกหยิบยกมาพูดบนเวทีทางการเมืองอยู่เนืองๆ

ทว่า ประเด็นทุกอย่างมิได้ผุดขึ้นมาอย่างโดดเดี่ยว แต่เริ่มต้นจากปัจเจกที่พบเจอกับปัญหาอันเป็นผลลัพธ์ทั้งทางตรงทางอ้อมจากการปกครอง จึงใช้พื้นที่เพื่อสื่อสารเพื่อให้เกิดการพูดคุยถึงปัญหาเชิงประเด็นนั้นๆ อย่างแท้จริง ซึ่งหนึ่งในผู้ชักนำประเด็นให้ถูกพูดถึงจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก ‘นักกิจกรรมทางการเมือง’ ที่กระโดดออกจากพื้นที่เซฟโซนของตัวเองออกมาทำคอนเทนต์สื่อสารกับสังคมเพียงเพื่อต้องการเห็นสังคมที่ดีกว่าด้วยหนึ่งสมองสองมือของเขา 

#YouthSpeakDemocracy คอนเทนต์ซีรีส์พิเศษที่ Young Pride Club ทำร่วมกับ Manushya Foundation ในตอนนี้ มีโอกาสได้พูดคุยกับเจ้าของเพจ ‘มีนคัน’ พื้นที่เบื้องหลังความสำเร็จของนักกิจกรรมเพื่อความเท่าเทียมทางเพศที่พาตัวเองกระโจนออกมารณรงค์ ‘โนบรา’ สร้างสิทธิในเนื้อตัวร่างกายให้กับผู้หญิง ถึงเส้นทาง  อุปสรรค และความเปลี่ยนแปลง

เล่าหน่อย ‘มีนคัน’ กับโนบราเริ่มจากอะไร 

มีน: มีนเริ่มต้นจากคณะที่เรียน ตอนนั้นเรียนสังคมสงเคราะห์ ทีแรกไม่ได้รับรู้เรื่องการเมืองมากขนาดนั้น แต่เมื่อมาเรียนคณะนี้เราได้เห็นปัญหาสังคมมากขึ้นในทุกมิติ ทุกประเด็น มันมีอะไรเติบโตขึ้นมาในตัวเราสักอย่าง 

ช่วงนึงที่มีนอยากทำเพจ ก็มีเรื่องที่เรารู้สึกอยากทำคือ ‘โนบรา’ เราพูดประเด็นนี้ในเพจชื่อ ‘มีนคัน’ เมื่อประมาณ 2 ปีก่อน พอทำเรื่องโนบรามันก็จะไปเกี่ยวข้องเรื่องเพศด้วย เพราะผู้หญิงกับการโนบราในสังคมไทยตอนนั้นเป็นเรื่องใหม่ที่ท้าทายมาก มีคำถามว่าถ้าผู้หญิงไม่ใส่บรามันจะอนาจารมั้ย มันจะโป๊มั้ย ตอนนั้นเองเราก็เริ่มโนบราแล้ว เพราะรู้สึกว่าตัวเองกล้า แต่สังคมตอนนั้นมันไม่เปิด ย้อนกลับไปขนาดตอนนั้นยังไม่ได้เปิดเพจรณรงค์โนบรา มีแค่รณรงค์โนบราในมหาวิทยาลัยยังถูกคนถาม ว่าทำไมไม่ใส่เสื้อใน เราเลยรู้สึกว่าความคิดที่ผู้หญิงต้องใส่ ‘เสื้อใน’ มันเป็นบรรทัดฐานในสังคมไปแล้ว และเราอยากเปลี่ยนค่านิยมนี้ในสังคม เราก็เลยเอาโนบราไปพูดในเพจเสียเลย ก็เป็นจุดเริ่มต้นของมีนคัน 

คือเมื่อพูดเรื่องโนบรา คนก็จะนึกถึงมีนคันเลย?

มีน : ไม่รู้ว่าคนมองมายังไง แต่ในฐานะนักกิจกรรม เราเป็นกระบอกเสียงในการขับเคลื่อนเรื่องประชาธิปไตย อาจจะเป็นเพราะเราเป็นเฟมินิสต์ เราก็ขับเคลื่อนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และก็มีโนบรา 3 ประเด็นนี้เป็นพอยท์หลักเลย ถ้าถามถึงมีนคัน คนก็จะตอบว่ามีนคันเป็นสาวโนบรา เป็นเฟมินิสต์ 

มีนคัน ขับเคลื่อนประเด็นอะไรเป็นหลัก

มีนคัน : ส่วนใหญ่เป็นประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ เราอยากสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจเรื่องเพศมากกว่า คอนเทนต์ส่วนใหญ่ของมีนคันจะเขียนบทความหรือทำวีดีโอตาม ‘ฟีล’ เป็นประเด็นเรื่องเพศ แต่ส่วนใหญ่เราจะทำคอนเทนต์เชิงไลฟ์สไตล์ ใช้ชีวิตในแบบเราไปด้วยและก็เป็นนักกิจกรรมไปด้วย  ในฐานะนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยการใช้ชีวิตของเราค่อนข้างยากพอสมควร  เพราะมันดันไปขัดแย้งกับค่านิยมของไทยหลายอย่างหลายเรื่อง

โนบราในยุคนั้นค่อนข้างสดใหม่กับคนไทยมาก แต่เราก็ยังเอามาขับเคลื่อน ตอนนั้นมีกระแสต่อต้าน หรือถูกโจมตีบ้างไหม?

มีน : ถูกโจมตีเรื่องความเหมาะสม ความไม่ถูกกาละเทศะ โดนติงเรื่องเห็นหัวนมประมาณนี้ มีคนมาโจมตีทั้งจากผู้ชายและผู้หญิงเลยนะ แต่ก็ไม่ใช่โจมตีหมด ช่วงนั้นก็มีคนที่ออกมาสนับสนุนสิ่งที่เราผลักดันเหมือนกัน แต่เสียงยังไม่เยอะเท่าฝั่งที่ต่อต้าน 

พอมีคนไม่เห็นด้วยกับเรา แล้วเขาทำอะไรเราบ้าง

มีน : เยอะนะคะ ส่วนตัวของมีนคันเราคบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ก็จะมีคำถามพวก ‘ทำไม’ หรือมีคนพูดประมาณว่า ‘อ่าว’ คำถามปะแล่มทำเหมือนไม่เข้าใจรสนิยมเรา พวกที่พูดขึ้นมาว่า ‘อ่าว ไม่ได้มีแฟนเป็นผู้ชายเหรอ?’ เอาจริงๆ จะคบกับใครมันไม่ใช่เรื่องที่ผิดกฎหมาย มันแค่ไม่ตรงตามบรรทัดฐานของสังคมคนเลยเริ่มตั้งคำถาม ที่หนักสุดคือการเจอ คำพูดเกลีดชัง (Hate Speech) ไม่รู้ว่าโกรธอะไรใครมาแต่เราจะเป็นคนเจอ นอกนั้นก็เจอพวกแซะหรือเจอพวกปั่นบ่อย 

ช่วงกลางของการสัมภาษณ์ มีนคัน อธิบายการถูกโจมตีจากกลุ่มผู้เห็นต่างทางการเมือง ซึ่งเธอคาดว่าเป็น ‘ไอโอ’ ที่ทำกันเป็นขบวนการโดยใช้เพจสาธารณะโพสต์เชิงโจมตีเรื่องส่วนตัว อาทิ รสนิยมทางเพศ หรือบิดเบือนประเด็นข้อเรียกร้องของเธอเพื่อให้เกิดความโกลาหลเข้าใจผิด 

IO (information operation) ยุทธกาลด้านข้อมูลข่าวสาร มักถูกใช้เพื่อตอบโต้กับฝ่ายตรงข้าม เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือหรือชิงกระแสความได้เปรียบมาอยู่ฝ่ายเดียวกันกับตน หรืออาจใช้เพื่อยุยงปลุกปั่นเพื่อผลประโยชน์ด้านใดด้านหนึ่ง

1 ธ.ค. 2564 พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ออกมาเปิดเผยถึงยุธกาลไอโอโดยหน่วยงานภาครัฐ ที่ทำกันอย่างเป็นขบวนการขั้นตอน มีการจัดตั้งการส่งข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นระบบเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่สถาบันและหน่วยงานของรัฐ​ อีกทั้งยังมีหน่วยปฏิบัติการเพื่อด้อยค่าแพร่มลทินให้กับประชาชน โดยลักษณะคาดว่าจะเป็นไอโอคือการโพสต์ข้อความซ้ำๆ เป็นจำนวมาก ติดแฮชแท็กเหมือนและพร้อมกัน อีกทั้งยังติดตามกันเองในวงแคบ ซึ่งคล้ายกับกรณีเดียวกับที่ ‘มีนคัน’ ถูกโจมตีบนโซเชียลมีเดีย

คิดว่ามีไอโอโจมตีเราไหม

มีน : ตอนแรกเราก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งพอเจอกับตัวเองจริงๆ ก็เริ่มคิดเริ่มเชื่อไปแล้วสัก 10%  ส่วนใหญ่ที่เจอก็จะเป็นข้อความที่อ่านแล้วรู้สึกแปลก ๆ ดูเหมือนมันโป๊ะๆ เพราะมันเหมือนกันหมด มีเพจนึงโพสต์โจมตีเราเพราะเห็นต่างกับประเด็นที่เรากำลังพูด ไม่เห็นด้วยกับขบวนการของเรา พอมีเพจนึงเริ่มก็จะมีอีกเพจนึงตาม แล้วโพสต์เกือบทุกช่องทาง ทั้งทวิตเตอร์แล้วก็เฟสบุ๊ก จำได้ว่าเราโพสต์โจมตีเรื่องโนบรา คือ เราเรียนมธ. แล้วมธ.ช่วงนั้นมันมีประเด็นเรื่องชุดไปรเวท เราก็เป็นหนึ่งในคนที่ใส่ชุดไปรเวทไปเรียนแล้วก็ไปขายที่ปิดจุกในมช. ทีนี้เขาเลยเอาประเด็นนี้มาโฮะรวมเป็นเรื่องเด็กสามกีบ เด็กสามกีบอยากใส่ชุดไปเวทไปเรียน ทั้งที่เราพูดเรื่องประชาธิปไตย แต่ดันเอาเราไปโจมตีเรื่องเพศ เรื่องโนบรา 

จำได้ว่าคุณเคยเกือบโดนมหาวิทยาลัยเรียกตัวเข้าไปสอบด้วย 

มีน : จำได้ว่าที่มีนโดนคือโดนกดดัน แรกๆ เลยคือโดนกดดันจากอาจารย์ก่อน เขายังไม่ได้เข้ามาถึงตัวมีน มีครั้งนึงคณะเกือบต้องมานั่งประชุมกันว่าจะเอายังไงกับเรื่องนี้ ด้วยว่ามันคือเรื่องที่มีผลกับคณะ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของคณะ ก็พูดกันว่าเราจะเอายังไง จะตั้งกรรมการสอบไหม ตอนนั้นมีนได้ยินข่าวมาจากอาจารย์ก่อนเลยรีบติดต่อ NGO ที่เราพอจะรู้จัก และทางนั้นเองก็รู้จักกับอาจารย์ ก็เลยจะมีฝั่งของอาจารย์ที่มาดีเฟนด์ให้เราในที่ประชุม และก็เป็นความโชคดีที่เราเรียนคณะสังคมสงเคราะห์ด้วยค่ะ

จากที่ฟังมาคุณโดนโจมตีเยอะมาก มีความกังวลบ้างไหม 

มีน : ตอนนั้นก็เงียบไปนะ เพราะเราไม่ได้โดนโจมตีแค่ทางออนไลน์ ช่วงนั้นเราเรียนอยู่ปี 4 เป็นปีสุดท้าย แล้วมีอีกฝั่งมาโจมตีเราผ่านทางมหาวิทยาลัย จนครั้งนึงเกือบถูกตั้งกรรมการสอบ แต่โชคดีที่ตอนนั้นมีอาจารณ์หลายท่านที่ยืนอยู่ฝั่งเดียวกันกับเรา และด้วยความที่เราทำงานกับเหล่านักกิจกรรม และ NGO มาเยอะ เรายังมีคนเบื้องหลังที่พร้อมจะเข้ามาช่วยเหลือพิทักษ์สิทธิของเรา เลยไม่ได้ถูกตั้งกรรมการสอบ เราเลยรอดจากมหาวิทยาลัยมาได้ 

บอกเราหน่อยว่า แล้วมีนคันมีวิธีการรับมือกับการโจมตีที่หลายหลากรูปแบบนี้ยังไง

มีน : ตอนที่โดนโจมตี โดนนั่นโดนนี่ไม่ได้ใจแข็งนะคะ เรามีความเครียด แล้วก็ต้องใช้เวลา รู้สึกเหมือนไม่อยากพูดเรื่องการเมือง ไม่อยากพูดเรื่องสิทธิ์ไปพักนึง เพราะเราเฟล ใช้เวลาพักฟื้นค่อนข้างนานเลยแหละ แต่ในขณะที่มีนทำคอนเทนต์ออนไลน์เราต้องตระหนักอย่างนึงคือ การขับเคลื่อนสังคมผ่านสื่อออนไลน์มันเข้าถึงคนง่าย และเข้าถึงคนทุกรูปแบบด้วย ซึ่งบางเรื่องมันก็ไม่ถูกใจทุกคนเราต้องยอมรับและเตรียมใจไว้ ว่าอาจจะเจอคำพูดเชิงเกลียดชัง เจอการแซะบ้าง ซึ่งวิธีรับมือของมีนคันส่วนใหญ่นะ ‘ช่างแม่งมัน!’ แล้วใช้ชีวิตต่อแค่นั้นแหละ ไม่เอามาใส่สมองหรอก เข้าใจมั้ย เพราะมันมีคนจ้องจะจับผิดอะไรเราสักเรื่องอยู่แล้ว ไหนจะคนที่เห็นต่างกับเราอีก หากเราไปแคร์มันเสียทุกอย่างมันจะส่งผลต่อเราโดยตรงทั้งร่างกายจิตใจ ซึ่งเราก็พยายามสร้างพลังบวกให้ตัวเองจากข้างใน ทำส่วนที่เรารู้สึกเชื่อมั่นให้มันเต็มที่มากกว่า และไม่เอนเอียงเสียจุดยืนของตัวเอง ว่าเราอยู่ตรงไหน และเรากำลังเรียกร้องเรื่องอะไร เพราะกระแสสังคมมันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากวันนี้มันไม่ใช่วันของเรา วันหน้ามันต้องเป็นวันของเรา ถ้ารู้สึกไม่ไหวก็ต้องพักก่อน ฮีลตัวเองจนกว่าเราจะรู้สึกว่าเราพร้อมทั้งกายและใจที่จะสู้ต่อเพราะการเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา เราอย่าเพิ่งตาย 

ระหว่างปี 63-65 รัฐบาลพยายามปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างจากรัฐบาลอย่างชัดเจน ในปี 2565  Freedom House และ Manushya เปิดเผยรายงานข่าวประชาสัมพันธ์ร่วม อินเทอร์เน็ตในไทย “ไม่เสรี” ตอนนึงระบุว่า มีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลไทยใช้สปายแวร์สอดแนม นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตย นักวิจัยและนักการเมืองฝ่ายค้าน 

อย่างไรก็ตามการติดตามก่อกวนบนโลกออนไลน์โดยไอโอซึ่ง(คาดว่า)เป็นของภาครัฐ นอกจากจะไม่สร้างบรรยากาศการพูดคุยการเมืองอย่างปลอดภัย ยังสร้างความหวาดกลัวหรือสร้างความเหนื่อยล้าทั้งกายใจให้กับนักกิจกรรมทางการเมือง เพียงเพราะคิดเห็นไม่ตรงกัน 

สุดท้ายนี้ในฐานะนักกิจกรรมที่เจ็บหนักมากมาย แต่ยังคงอุดมการณ์ที่ต้องการเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลง รู้ไหมว่าตัวเองเปลี่ยนอะไรไปมากเท่าไหร่แล้ว

มีน : จริงๆ เราไม่รู้นะว่าเราเปลี่ยนแปลงอะไรไปเท่าไหร่แล้ว มันเอามาแปลงเป็นตัวเลขยากอยู่นะ การเปลี่ยนแปลงเราคิดว่ามันยากในตอนแรก แต่พอเราได้ลงมาทำจริงๆ มันเปลี่ยนแปลงได้ 

มีช่วงนึงที่มีนได้ทุนไปจัดกิจกรรมเรื่องความหลากหลายทางเพศในหมู่บ้านกับ Save The Children มียัง Young Pride ไปด้วย ช่วงโควิดเราก็จะจัดกิจกรรมในหมู่บ้านของเราซึ่งเป็นพื้นที่ชนบท ถ้าเคยดูซีรีส์ไทบ้านหมู่บ้านของมีนคันก็จะอารมณ์ประมาณนั้นแหละ เราก็ไปสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศกับเด็กในหมู่บ้าน สุดท้ายก็บอกว่าจะมีความหลากหลายทางเพศเกิดขึ้นในสังคมมากแค่ไหนไม่ใช่เรื่องแปลก และผู้มีความหลากหลายทางเพศก็ไม่ได้แตกต่างจนต้องถูกบบูลลี่ หรือถูกมองเป็นอื่น ทุกคนก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน อันนี้แหละประเด็นหลักที่มีนคันเอาไปทำกิจกรรมกับเด็กๆ พอถึงช่วงพักมันมีเด็กกลุ่มนึงไปล้อเด็กอีกคนว่าเขาเป็นตุ๊ด

เราได้ยินเด็กพูดคำนั้นพอดีในกิจกรรมของเราแล้วกำลังจะอ้าปากสวน แต่มีเด็กอีกคนที่อยู่ข้างๆ กันพูดแทรกขึ้นมาทันทีว่า  “แล้วยังไง ก็เป็นคนเหมือนกันนิ” พูดแบบนี้เลย เราขนลุกมาก เพราะว่าเราเพิ่งพูดเรื่องนี้ไปเมื่อตอนเช้า แล้วเด็กเขาซึมซับรับรู้จนเอามาปกป้องเพื่อนเขาอีกคนนึง ตอนเราเด็กๆ เราก็มีเพื่อนเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศนะ แต่เราไม่เคยกล้าที่จะปกป้องเพื่อนในตอนที่เพื่อนเราโดนล้อเลย แต่พอมันเป็นอีกยุคนึงที่เขาได้ความรู้ ได้เข้าใจเรื่องความหลากหลายมากขึ้น เขาก็กล้าที่จะพูดออกมากล้าที่จะปกป้องคนอีกคนเมื่อเขาถูกบูลลี่ถูกล้อ ซึ่งมันทำให้เรารู้สึกว่า แม้เราจะไม่ได้เปลี่ยนสังคมทั้งประเทศ แต่อย่างน้อยเราได้เปลี่ยนความคิดของคนบางคน ถึงมันจะเป็นแค่คนเดียวเราก็มองว่ามันคือการเปลี่ยนแปลงแล้ว เราก็เลยรู้สึกว่าถ้าเราได้เปลี่ยนความคิดใครสักคนที่เขาได้ผ่านมาเห็นข้อมูลได้เห็นสื่อที่เราทำออกมา เมื่อมีคนรับไปแล้ว อย่างน้อยๆ มีนก็รู้สึกว่าข้อมูลนั้นมันจะทำงานของมันเอง