NEWS: Covid-19 ทำพิษกลุ่มนักแสดงหญิงข้ามเพศในอินโดนีเซีย ทั้งขาดรายได้จากมาตราการรัฐ และยังถูกมองว่าเป็นภัยต่อสังคมจากคำกล่าวอ้างของรัฐ ที่มีต่อ LGBT

by | Mar 30, 2022 | Uncategorized

Merry หญิงข้ามเพศวัย 50 ปี อาศัยอยู่ในแถบชานเมือง Surubaya เมืองใหญ่อันดับสองของประเทศอินโดนีเซีย เธอเป็นนักแสดงเปิดหมวกมากว่า 10 ปี และขณะนี้ได้อาศัยอยู่ในบ้านหลังเล็กที่มีขนาดเพียง 3 ตารางเมตร และยังไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้า หรือน้ำสะอาดได้อย่างเต็มที่

ก่อนหน้านี้ Merry ต้องอาศัยอยู่ในบ้านเพิงไม้ที่คับแคบยิ่งกว่า แต่เธอสามารถย้ายมาอยู่ในที่พักอาศัยที่ดีกว่าเดิมได้ เพราะได้รับเงินบริจาคจากธนาคารอาหาร Garda Pangan ที่ตั้งใจช่วยเหลือชุมชนคนข้ามเพศในเมือง Surubaya ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา

โดยผู้บริจาครายหนึ่ง ได้ช่วยให้เธอสามารถเปิดร้านอาหารเล็ก ๆ เป็นของตัวเองได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ร้านอาหารกลับเป็นสิ่งที่ท้าทายชีวิตของเธอมากยิ่งขึ้น เพราะในชุมชนที่เธออาศัยอยู่นั้น มีผู้คนที่ยากจนเป็นจำนวนมาก ที่ท้องหิว แต่ไม่มีเงินจ่ายค่าอาหารได้ทันที Merry จึงต้องออกไปทำการแสดงเปิดหมวกอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อให้ยังสามารถมีเงินจุนเจือพอเหลือในชีวิตประจำวันได้

“ฉันเคยแต่งงานกับผู้หญิง แล้วเราก็มีลูกชายด้วยกัน 1 คน ฉันเลี้ยงเขามาด้วยเงินที่หาได้จากการแสดงเปิดหมวกเป็นหลัก ฉันไม่มีทักษะอื่น ๆ เลย”

และในตึกที่ Merry อาศัยอยู่นั้น ก็มีนักแสดงข้ามเพศคนอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งต่างก็ตกอยู่ในที่นั่งลำบากด้วยกัน เนื่องจากข้อบังคับของรัฐบาลอินโดนีเซีย ที่จำกัดจำนวนคนในพื้นที่สาธารณะ และงานรื่นเริงต่าง ๆ ทำให้นักแสดงเหล่านี้ไม่สามารถออกไปสร้างความบันเทิงเพื่อแลกกับเงินมาใช้จ่ายในชีวิตได้

Febby Damayanti นักแสดงสาวข้ามเพศ ช่างแต่งหน้า และตัวแทนโฆษกของสมาคม Perwakos ซึ่งเป็นชุมชมของกลุ่มคนข้ามเพศในเมือง Surabaya เล่าว่าความต้องการรับชมการแสดงของกลุ่มคนข้ามเพศนั้นสูงมาก โดยเฉพาะบริเวณนอกเขตเมืองใหญ่ ๆ อย่าง Surabaya เอง

“คนในเมืองเล็ก ๆ และแถบชานเมืองจะต้อนรับพวกเรามากกว่า และการว่าจ้างส่วนใหญ่ของเราก็มาจากที่นั่น โดยการแสดงของเราจะเน้นไปทางคอมเมดี้ ซึ่งเราจะจิกกัดบทบาททางเพศของคนในสังคม แล้วผู้ชมก็หัวเราะถูกอกถูกใจกันใหญ่เลย”

ย้อนกลับไปในช่วงยุคปี 1990s การแสดงคอมเมดี้ และคาบาเรต์โดยกลุ่มหญิงข้ามเพศนั้นได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แม้แต่ในเมืองใหญ่ ๆ ก็ด้วย แต่ในปัจจุบันนี้ ถึงแม้ว่านักแสดงข้ามเพศจะยังคงได้รับการยอมรับ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าผู้คนในเมืองใหญ่อย่าง Surabaya นั้นเริ่มมีทัศนคติแนวอนุรักษ์นิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

การเปลี่ยนแปลงเริ่มเกิดขึ้นในช่วงกลางของยุคปี 2000s ซึ่งมีการเริ่มใช้คำว่า LBGT กันอย่างแพร่หลาย โดยคำ ๆ นี้ไม่เพียงแต่จะสร้างการตระหนักรู้ถึงกลุ่ม LBGT แต่กลับเพิ่มกลุ่มคนที่เกลียดชัง และรังเกียจชาว LGBT เพิ่มขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ การใช้คำที่เป็นภาษาต่างประเทศยังมีผลเกี่ยวกับเรื่องการเมือง โดยในปี 2016 Ryamizard Ryacudu รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้นได้อ้างว่าการขับเคลื่อนเพื่อสิทธิ LGBT เป็นหนึ่งในตัวแทนสงครามจากประเทศต่างชาติ ที่จะ “ทำลายวัฒนธรรมของประเทศอินโดนีเซียให้สิ้นซาก โดยปราศจากการยิงปืนแม้เพียงนัดเดียว”

ยังไม่พอเท่านั้น ผลการสำรวจความคิดเห็นของสาธารณะชนในปี 2018 โดย Saiful Mujani Research and Consulting ยังแสดงให้เห็นอีกว่ากว่า 87.6% ของผู้ตอบแบบสำรวจชาวอินโดนีเซียเห็นว่ากลุ่มคนที่เป็น LGBT นั้นเป็นภัยต่อสังคม

ความเกลียดชังนี้ยังส่งผลให้ชาวข้ามเพศจำนวนมากถูกละเลย ไม่ได้รับความเป็นธรรม และไม่ได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียม แม้จะเสียชีวิตไปแล้ว นั่นเป็นเพราะกฎหมายของอินโดนีเซียไม่ยอมรับตัวตนของคนข้ามเพศ แม้จะมีบัตรประจำตัวมายืนยัน ดังนั้นเมื่อตายไปแล้ว หากไม่มีผู้ใดมารับศพไป ก็จะถูกจัดว่าเป็นศพนิรนาม ไร้ตัวตน ไร้ญาติ และมักจะถูกฝังแบบไร้ชื่อ ในพื้นที่สุสานที่สงวนให้กับทหารผ่านศึกที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้เช่นเดียวกัน

“เพราะฉะนั้น Perwakos จึงเป็นสมาคมของกลุ่มคนข้ามเพศใน Surabaya ที่จะให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และไม่ทอดทิ้งกันแม้ผ่านเรื่องที่ยากลำบากกันมา” Damayanti กล่าว “เรื่องแบบนี้ก็เคยเกิดขึ้นกับหนึ่งในสมาชิกของเรา แต่ท้ายที่สุดแล้ว เราก็ช่วยกันรวมเงิน และขอความช่วยเหลือจากหน่วยบริการสังคม จนสามารถจัดพิธีศพดี ๆ ให้เพื่อนของเราได้”

“คนข้ามเพศนั้นปรับตัวง่าย มีความลื่นไหลกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดี และเราก็ผ่านอะไรมาเยอะ แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ยังต้องการความช่วยเหลือ และความเห็นอกเห็นใจจากสังคมอยู่บ้างในบางครั้ง”

อ้างอิง: https://www.scmp.com/week-asia/people/article/3164289/covid-takes-toll-transgender-entertainers-indonesia-where-even?module=perpetual_scroll_0&pgtype=article&campaign=3164289