NEWS: ซีรี่ย์เกาหลีนำเสนอและสนับสนุนความรัก LGBTQ+ หรือแค่หากินกับความหลากหลายทางเพศ?

by | Feb 28, 2022 | Society

วัฒนธรรม pop culture ของเกาหลีใต้เริ่มเข้าสู่กระแสหลักและดังไกลไปทั่วโลก เช่นเดียวกับซีรี่ย์โทรทัศน์ ที่มีการสอดแทรกพล็อตเรื่องหรือตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อดึงความสนใจผู้ชุมกลุ่ม LGBTQ+ แต่ผู้ชมบางคนกลับมองว่าการนำเสนอความรักของคนเพศเดียวกันบนหน้าจอยังขาดความสมจริง และสร้างความพึงพอใจเพียงแค่นักเขียนหรือผู้ชมที่เป็นคนรักต่างเพศเท่านั้น

การเซนเซอร์สื่อและปฏิกิริยารุนแรงจากสังคม

เนื่องจากประเทศเกาหลีใต้ยังมีกลุ่มอนุรักษ์นิยมอยู่มาก เนื้อหาที่เกี่ยวกับความรักของคนเพศเดียวกันมักถูกปิดกั้นจากสื่ออยู่ไม่น้อย อย่างซีรี่ย์เรื่อง เรื่อง Life is Beautiful (2010) ที่เคยถูกกลุ่มคลั่งศาสนาร้องเรียนให้มีการเซนเซอร์ เพื่อไม่ให้เกิดการปลูกฝังค่านิยมที่ผิดศีลธรรม และทำให้ Kim Soo-hyun ผู้สร้างและนักเขียนเรื่องนี้แสดงความไม่พอใจต่อการเซนเซอร์จาก Korea JoongAng Daily ซึ่งปิดกั้นโอกาสที่จะลดการเลือกปฏิบัติต่อความหลากหลายทางเพศในสังคม

อย่างไรก็ตาม ซีรี่ย์เกาหลีหลายเรื่องพยายามแฝงความสัมพันธ์แบบ LGBTQ+ ผ่านตัวละครที่เป็นคนรักต่างเพศ เช่นเรื่อง The Boy Next Door (2017) ที่ชวนให้คนดูจิ้นกับความสัมพันธ์ของผู้ชาย 2 คน ที่เป็นรูมเมทกัน ทั้งยังนำเสนอในรูปแบบล้อเลียน ตลกขบขัน เช่นเดียวกับซีรี่ย์ Vincenzo ที่นำแสดงโดย Song Joong-ki ซึ่งมีตอนหนึ่งที่เขาต้องแกล้งปลอมตัวเป็นเกย์เพื่อพิชิตภารกิจให้สำเร็จ เสียงสะท้อนจากผู้ชมจึงมองว่าการผลิตเนื้อหาที่เล่นกับความรู้สึกของ LGBTQ+ ไม่ต่างจากการถูกละเมิดจากคนเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน

กระแสนิยมซีรี่ย์ Boys’ Love ระหว่างเกาหลี และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ท่ามกลางกระแสนิยมของซีรี่ย์วายหรือ Boys’ Love ที่มีต้นกำเนิดมาจากอานิเมะญี่ปุ่น มีอิทธิพลต่อกลุ่มผู้ชมทั้งในภาคตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างประเทศไต้หวันและไทยที่มีกลุ่มแฟน ๆ BL ใหญ่ที่สุด ส่วนในเกาหลีใต้ ได้มีการสร้างซีรี่ย์แนว BL อย่าง Where Your Eyes Linger ที่เป็นการเซ็ตรูปแบบความรักของคนเพศเดียวให้สังคมรับรู้และไม่ใช่เรื่องผิดแปลก แต่สำหรับเสียงตอบรับจากคนดูกลับมองว่า BL ของเกาหลียังขาดมิติในการเล่าเรื่อง ซึ่งอาจเป็นเพราะซีรี่ย์ดังกล่าวเล่าผ่านมุมมองของผู้สร้างและผู้ชมที่เป็นผู้หญิงโดยกำเนิด และถ่ายทอดความรักของเกย์เป็นแค่ความรู้สึกทางเพศที่มีต่อวัตถุ (fetishistic) เท่านั้น

การนำเสนอคุณค่าของความหลากหลายทางเพศ และกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติ

ถึงแม้ว่าซีรี่ย์เกาหลีหลาย ๆ เรื่องได้ส่งเสริมการมีตัวตนและเห็นคุณค่าของ LGBTQ+ เช่นเรื่อง Mine ที่แสดงโดย Kim Seo-hyung กับบทภรรยาเศรษฐีที่ยอมรับในเพศสภาพของตัวเองในตอนสุดท้าย และยังคงรักษาสถานภาพทางสังคมไว้อย่างดี แต่ซีรี่ย์บางเรื่องยังคงนำเสนอด้านลบของความหลากหลายทางเพศ อย่างเรื่อง Squid Game ที่ปรากฎนักล่าเกย์อย่างไม่มีเหตุผล

เมื่อสื่อในเกาหลีใต้เปิดกว้างและเผยแพร่ความรักของคนเพศเดียวกัน แต่กฎหมายคุ้มครองสิทธิของ LGBTQ+ ยังเป็นเรื่องห่างไกล โดยบทความจากนิตยสาร Time เผยว่า 7 ใน 10 ของประชากรเกาหลีใต้ เชื่อว่าการเลือกปฏิบัติต่อชุมชนชายขอบเป็นสิ่งที่ผิด และ 9 ใน 10 สนับสนุนให้มีการออกพระราชบัญญัติที่ครอบคลุมกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติ โดยมีการสนับสนุนลงชื่อเรียกร้องให้รัฐสภาเร่งออกกฎหมายคุ้มครองกว่า 100,000 รายชื่อ หลังจากสภาผู้แทนราษฎรประกาศเลื่อนใช้กฎหมายนี้ไปจนถึงเดือน พฤษภาคม ปี 2024

ขณะที่ชุมชนชายขอบในเกาหลีใต้ยังคงต่อสู้เพื่อสิทธิ์ทางกฎหมายในชีวิตจริง แต่ในจอโทรทัศน์เริ่มเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น โดยนักเคลื่อนไหวสิทธิเกย์ได้กล่าวว่า “ผมคิดว่าปัญหายังคงไม่ได้รับการแก้ไข แต่ผมก็รู้สึกได้ว่าเพศกลุ่มน้อยไม่ได้ถูกเล่าเรื่องให้ดูตลกอีกต่อไป ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากความยั้งคิดที่มากขึ้นของการมองเรื่องเพศแบบเหมารวมที่ค่อนข้างมากกว่าการลดทอนความเกลียดชังต่อชุมชนชายขอบ”

อ้างอิง: shorturl.at/frvMV
ภาพจาก: shorturl.at/boABS
shorturl.at/fwxGY

Follow ข่าวอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่: https://youngprideclub.com/