คนข้ามเพศหลายคนได้เคยผ่านการต่อสู้มาอย่างยาวนาน เพื่อให้ได้สิทธิในการเข้าถึงการรักษายืนยันสถานะทางเพศของตัวเอง แต่สำหรับคนข้ามเพศที่มีรูปร่างอ้วนในประเทศอังกฤษ การเข้าถึงกระบวนการรักษาด้วยฮอร์โมนหรือผ่าตัดศัลยกรรมเปลี่ยนเพศที่คลินิกการรับรู้เพศและสภาพร่างกาย NHS เป็นเรื่องยากยิ่งกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากบุคคลเหล่านั้นเป็นคนผิวสีหรือคนชายขอบ การรักษาที่คลินิกยืนยันเพศยิ่งยากเป็นทวีคูณ
.
ความอ้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้คนข้ามเพศกลุ่มนี้ขาดโอกาสในการรักษาเปลี่ยนเพศ ถึงแม้ว่าจะมีการนำค่าดัชนีมวลกาย หรือ Body Mass Index (BMI) มาใช้เป็นเครื่องชี้วัดสำหรับการตัดสินใจของศัลยแพทย์ที่ระบุว่าบุคคลผู้นั้นมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะได้รับการผ่าตัดหน้าอกหรือแปลงเพศหรือไม่ แต่ความจริงแล้ว การใช้ข้อมูลจากค่า BMI ขัดแย้งกับการศัลยกรรมยืนยันเพศ และนำไปสู่ผลกระทบที่ตามมาอีกมากมาย
.
นาธาน ผู้ชายข้ามเพศอายุ 25 ปี กล่าวว่า เขามีพฤติกรรมกินอาหารผิดปกติ ซึ่งเกิดจากการลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว เพื่อที่จะได้รับการผ่าตัดหน้าอก โดยการกำหนดค่า BMI ที่คลินิกในเมืองไบรตันอยู่ที่ 35 ส่วนเมืองพลีมัธอยู่ที่ 40 หากเขาไปรักษาที่พลีมัธตั้งแต่แรกเขาคงไม่ต้องถูกขอให้ลดน้ำหนักมากขนาดนี้
.
โดยค่า BMI ของนาธาน ลดจาก 38 มาอยู่ที่ 35.8 จากการโหมออกกำลังกายอย่างหนัก 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และงดรับประทานแป้ง ซึ่งเขาต้องพยายามไม่ให้น้ำหนักลดลงไปมากกว่านี้เพื่อเริ่มสร้างกล้ามเนื้อ แต่ก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจสำหรับศัลยแพทย์ ดังนั้นเขาจึงถูกขอให้ลดน้ำหนักลงอีก 2 กิโลกรัม ภายใน 10 วัน เพื่อให้ตรงกับคุณสมบัติที่จะได้รับการผ่าตัดศัลยกรรม
.
ทั้งนี้ คนข้ามเพศอีกหนึ่งคนยังได้กล่าวว่า เธอต้องลดระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนแบบผิดปกติ โดยทางคลินิกบอกว่าน้ำหนักตัวของเธอ ทำให้ต้องเพิ่มโดสฮอร์โมนมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งเธอได้สั่งฮอร์โมนที่นำมาขายอย่างผิดกฎหมายจากช่องทางออนไลน์มาหลายปี จนกระทั่งแพทย์คนอื่น ๆ ได้ยืนยันว่าการวัดค่า BMI มีความเสี่ยงต่อสุขภาพน้อยกว่าการเพิ่มโดสระดับฮอร์โมนให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
.
อย่างไรก็ตาม การที่แพทย์ใช้ค่า BMI มาเป็นตัวกำหนดในการผ่าตัดศัลกรรมก็ดูย้อนแย้งเช่นเดียวกัน ซึ่งโหดร้ายและมีความเสี่ยงสูงต่อสุขภาพของผู้ที่เข้ารับการรักษาเปลี่ยนเพศ โดยทั่วไปค่า BMI ใช้เป็นมาตรวัดสุขภาพแบบองค์รวมของบุคคล แต่คลินิกศัลยกรรมกลับให้ความสำคัญกับ BMI จนทำให้คนไข้เกิดปัญหาการกินผิดปกติ เพื่อลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว ทั้งยังมีข้อมูลจากงานวิจัยที่ระบุว่าคนข้ามเพศเป็นโรคกินอาหารผิดปกติในอัตราที่สูงกว่าคนรักต่างเพศอีกด้วย
.
นอกจากนี้ ผู้พิการหรือผู้ได้รับบาดเจ็บก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ศัลยแพทย์มักจะมองข้ามอยู่เสมอ โดย Lee Hulme นอนไบนารี อายุ 38 ปี มีอาการบาดเจ็บที่เข่าและหมอนรองกระดูดเคลื่อนทับเส้นประสาท ได้ถูกขอให้ออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนักสำหรับการทำศัลยกรรมแปลงเพศ ซึ่งเป็นข้อจำกัดของคนที่มีอาการบาดเจ็บ “บางครั้งก็ท้อแท้เหมือนกัน ที่ต้องทำในสิ่งที่ฉันไม่อยากทำ” รวมถึงบางคนที่เป็นโรคหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิด การออกกำลังกายอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
.
หากปัญหาการกินผิดปกติ ลดน้ำหนักแบบเร่งด่วน และอาการบาดเจ็บหรือพิการทางร่างกาย ไม่ได้รับการพิจารณาจากศัลยแพทย์ที่ทำการผ่าตัดยืนยันเพศ ท้ายที่สุดอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย โดย Stonewall เผยว่า 1 ใน 4 ของวัยรุ่นข้ามเพศ พยายามฆ่าตัวตายมาแล้ว และผลสำรวจคนข้ามเพศในอเมริกา ปี 2015 ระบุว่า คนข้ามเพศวัยผู้ใหญ่ถึง 40% เคยคิดสั้นและพยายามฆ่าตัวตายมาแล้วเช่นเดียวกัน
.
คนข้ามเพศหลายคนต้องประสบกับความทุกข์ใจในเพศสภาพ เช่นเดียวกับ Bex Stinson ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 33 ปี ที่บอกว่าเธอต้องรอเกือบ 10 ปี กว่าจะได้ผ่าตัดแปลงเพศที่ NHS “มันรู้สึกเหมือนคุณอยากตายเมื่อต้องเห็นองคชาติของตัวเอง… ศัลยแพทย์ไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านสุขภาพจิต ซึ่งทำให้ฉันมีความเสี่ยงสูงที่จะฆ่าตัวตาย ทั้งปัจจัยการกินผิดปกติ และปัจจัยจากโรคประจำตัว”
.
จากคำบอกเล่าของคนข้ามเพศและนอนไบนารีหลายคน ทำให้เห็นว่าค่า BMI ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดด้านสุขภาพหรือสิ่งที่คนไข้ต้องการ โดยพวกเขากล่าวว่า สิ่งที่ศัลยแพทย์ระบุว่าค่า BMI จะให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด มาจากรสนิยมความพอใจส่วนบุคคล มากกว่าการบรรเทาความทุกข์ใจในเพศสภาพของคนไข้ ซึ่งศัลยแพทย์คนหนึ่งกล่าวว่า เขาได้บอกคนไข้ที่ต้องการผ่าตัดอวัยวะเพศว่า มันจะดูไม่ใหญ่และดูใช่หากคุณไม่ลดน้ำหนัก แม้ว่าศัลยแพทย์ยืนยันว่าการลดน้ำหนักเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการผ่าตัดแปลงเพศ แต่ความจริงแล้วคนไข้ไม่ได้ต้องการยืนปัสสาวะตามที่พวกเขาเข้าใจ
.
นอกจากคนข้ามเพศแล้ว คนรักต่างเพศก็ต้องเจอกับการเหยียดความอ้วนเช่นเดียวกัน โดยคณะกรรมการสตรีและความเท่าเทียม ได้เผยแพร่รายงานที่ระบุค่า BMI ส่งผลต่อปัญหาด้านสุขภาพ ทั้งการกินผิดปกติและปัญหาสุขภาพจิตของผู้คน ด้วยการทำลายภาพลักษณ์ของรูปร่างที่สังคมยึดติดกับความผอมเพรียว ซึ่งควรหยุดวัดค่า
BMI และให้คนทุกไซส์สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างแท้จริง
.
อ้างอิง: https://www.pinknews.co.uk/2021/11/19/fat-trans-medical-fatphobia/
ภาพจาก: mohamed_hassan from pixabay.com
Follow ข่าวอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่: https://youngprideclub.com/