สสส.-มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยฯ-รพ.รามาธิบดี-รพ.ธรรมศาสตร์ฯ หนุนเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพที่ให้บริการสุขภาพแบบองค์รวม ดูแลสุขภาพกายและจิต มุ่งลดกลุ่มคนข้ามเพศ เครียด-ฆ่าตัวตาย

by | Oct 20, 2021 | Uncategorized

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานเสวนาออนไลน์ “การผนวกรวมบริการสุขภาพจิตกับบริการสุขภาพสำหรับคนข้ามเพศในคลินิกสุขภาพคนข้ามเพศ” ว่า แนวทางในการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพจิตของ สสส. คือ “มีปัญญา อารมณ์ดี มีความสุข” โดยมุ่งเป้าเพิ่มสัดส่วนประชากรทุกช่วงวัยให้มีสุขภาพจิตสมบูรณ์ สามารถจัดการความเครียด สามารถปรับตัวให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์ต่างๆ  ถือเป็นความท้าทายเร่งด่วนที่ต้องเร่งสร้างเสริมและป้องกัน สำหรับกลุ่มคนข้ามเพศ ซึ่งถือเป็นกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงต่อภาวะเครียด วิตกกังวลและซึมเศร้ามากกว่ากลุ่มอื่นๆ เพราะการใช้ชีวิตในสังคมที่มีอคติต่อความหลากหลายทางเพศ โดยในรายงานการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของกลุ่ม LGBTI ในประเทศไทย (2017) พบว่าคนข้ามเพศถูกเลือกปฏิบัติอย่างร้ายแรง โดย 40% ของคนข้ามเพศที่ตอบแบบสอบถามเคยถูกละเมิดทางเพศ หรือล้อเลียนในที่ทำงาน และ 77% ของคนข้ามเพศถูกปฏิเสธงานเพราะเป็นคนข้ามเพศ

มีงานวิจัยข้อมูลจากการศึกษา เรื่อง การใช้ฮอร์โมนบำบัด สุขภาพจิต   และคุณภาพชีวิตของคนข้ามเพศ (Hormone Therapy, Mental Health, and Quality of Life Among Transgender People: A Systematic Review) ระบุว่า ประสบการณ์การใช้ชีวิตที่ไม่ดีจากสังคมที่กีดกันทางเพศ ส่งผลต่อสุขภาพใจของคนข้ามเพศ (Transgender people) ทำให้มีภาวะซึมเศร้าหรือเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากขึ้น แต่การใช้ฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศ ปรับร่างกายให้ตรงตามอัตลักษณ์ทางเพศนั้นส่งผลดีต่อสุขภาพจิต ซึ่งการศึกษานี้ได้รวบรวมงานวิจัย 20 ชิ้น ของประชากรในยุโรป พบว่า การใช้ฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าที่น้อยลง และช่วยให้ภาวะวิตกกังวลดีขึ้น

ชี้ให้เห็นว่าบุคคลข้ามเพศต้องพบความยากลำบากในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ที่ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพจิตและสุขภาพทางกาย การดำเนินงานในเรื่องนี้กับกลุ่มคนข้ามเพศ จึงต้องพิจารณาถึงมิติความเหลื่อมล้ำในเรื่องสิทธิ เรื่องการเข้าถึงบริการ เรื่องเศรษฐานะ การเสริมพลังและการมีส่วนร่วมของชุมชนและเครือข่ายคนข้ามเพศที่จะเป็นจุดคานงัดที่สำคัญในการทำความเข้าใจปัญหาหรือสถานการณ์ที่คนกลุ่มนี้กำลังเผชิญอยู่ เพื่อที่จะสามารถออกแบบการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพจิตและสุขภาพกายอย่างเป็นองค์รวมต่อไป

นายชาติวุฒิ กล่าวต่อว่า สสส. ตระหนักถึงความสำคัญของบริการสุขภาพจิตในงานบริการที่เกิดขึ้น จึงสานพลังมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ริเริ่มโครงการส่งเสริมสุขภาวะ และลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนข้ามเพศในประเทศไทย (Transgender Health Access Thailand : T-HAT) และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในโครงการสนับสนุนวิชาการและการพัฒนาเครือข่ายการให้บริการทางคลินิกกับบุคคลข้ามเพศ เพื่อมุ่งส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพที่ให้บริการสุขภาพแบบองค์รวม ครอบคลุมประเด็นปัญหาสุขภาพกาย ใจ และสังคมที่คนข้ามเพศต้องเผชิญ โดยพัฒนารูปแบบบริการที่ครอบคลุม และสอดคล้องกับความต้องการ ตลอดจนร่วมผลักดันนโยบายที่สำคัญ และการเข้าถึงบริการสุขภาพในระดับภูมิภาค ทั้งนี้ประเด็นสุขภาพจิตเป็นประเด็นทางสุขภาพที่สำคัญ และยังมีช่องว่างของการบริการ และการเข้าถึงบริการสุขภาพยังเป็นเรื่องท้าทายสำหรับคนข้ามเพศ โดย สสส. ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมีแนวทางที่พัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานที่สนใจจะจัดตั้งคลินิกเพศหลากหลาย ให้เกิดขึ้นจำนวน 4 แห่ง ภายในปี 2566 เพื่อให้บริการที่เป็นมิตร มีคุณภาพ กับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งการที่โครงการจะบรรลุเป้าหมายได้นั้นจะต้องได้รับความร่วมมือ และสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายของผู้ให้บริการสุขภาพ ภาคประชาสังคม ร่วมถึงแกนนำชุมชน 

         ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์วัยรุ่น ประจำคลินิกเพศหลากหลาย รพ.รามาธิบดี และเจ้าของเฟซบุ๊กเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน  กล่าวว่า การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตยังมีอุปสรรคหลายประการ ซึ่งเกิดได้กับคนทุกเพศ เพราะบริการสุขภาพจิตยังเข้าถึงยาก เนื่องจากการรับบริการจากจิตแพทย์ต้องใช้เวลารอค่อนข้างนาน และคนทำงานด้านบริการสุขภาพจิตก็อาจจะมีทัศนคติเรื่องเพศที่ยังไม่เปิดรับคนข้ามเพศ รวมถึงกลุ่มดังกล่าวมีความประสงค์ต้องการแยกใช้บริการ/ฮอร์โมนที่ให้มีเป็นบางที่ไม่เพียงพอ/ค่าบริการที่แพงกว่าเพศหญิงชายหรือไม่ได้คำปรึกษาที่ตรงจุด ซึ่งยิ่งทำให้คนข้ามเพศเข้าถึงบริการสุขภาพจิตยากไปอีก อีกทั้งคนข้ามเพศมีความต้องการด้านสุขภาพที่เฉพาะเจาะจง เช่น การรับฮอร์โมนเพศเพื่อเริ่มกระบวนการปรับเปลี่ยนสรีระ หรือการรับบริการผ่าตัดเพื่อการข้ามเพศ ดังนั้นการมีบริการสุขภาพ โดยเฉพาะสุขภาพที่เกี่ยวกับการข้ามเพศจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก และมีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์โดยตรงกับสุขภาพใจ เพราะคนข้ามเพศจำเป็นที่จะต้องเข้าถึงบริการสุขภาพด้านการข้ามเพศ เช่น การรับฮอร์โมนเพศ เพื่อลดภาวะความกังวลเรื่องความเป็นเพศของตน หรือภาวะ gender dysphoria นั้นเอง

รศ.ดร.นพ.อติวุทธ กมุทมาศ ผู้อำนวยการคลินิกสุขภาพเพศ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า ปัจจุบันมีคลินิกปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตสำหรับเพศหลากหลายซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และการบริการนี้ยังมีไม่เพียงพอ โดยมองว่าการบริการสุขภาพของบุคคลข้ามเพศควรเป็นการบริการทางการแพทย์ขั้นพื้นฐานของทุกโรงพยาบาลในทุกจังหวัด และควรมีคลินิกสุขภาพเพศเป็นบริการขั้นพื้นฐานที่ผนวกรวมบริการด้านสุขภาพจิตจากจิตแพทย์เป็นส่วนหนึ่งในงานบริการสุขภาพสำหรับคนข้ามเพศด้วย

            คุณณชเล บุญญาภิสมภาร นักกิจกรรมผู้หญิงข้ามเพศ และผู้รับผิดชอบโครงการส่งเสริมสุขภาวะ และลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนข้ามเพศในประเทศไทย (T-HAT : Transgender Health Access Thailand) สสส. กล่าวว่า การลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการสุขภาพสำหรับคนข้ามเพศได้ จำเป็นต้องมีนโยบายสุขภาพที่เอื้อต่อการพัฒนาบริการสุขภาพเกี่ยวกับการข้ามเพศ โดยส่งเสริมราคาค่าบริการที่ยุติธรรม ทัศนคติผู้ให้บริการที่เป็นมิตร เป็นบริการที่มีคุณภาพ และครอบคลุมบริการทุกด้าน รวมถึงบริการด้านสุขภาพจิต และไม่กระจุกตัวอยู่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่งเท่านั้น

         ผศ.ดร.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน และอาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การดูแลสุขภาพของคนข้ามเพศจะต้องฟังความต้องการของคนข้ามเพศเป็นสำคัญ สังคมและระบบสาธารณสุขควรมีพื้นที่ให้คนข้ามเพศทุกคนได้มีโอกาสพูด และบอกเล่าเรื่องความต้องการ และเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาด้านสุขภาพจากตัวเจ้าของปัญหา ทั้งนี้ การลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการสุขภาพสำหรับคนข้ามเพศในประเทศไทยต้องอาศัยการทำงานเชิงนโยบายที่เอื้อต่อคนข้ามเพศ การมีทัศนคติที่เข้าใจปัญหาที่คนข้ามเพศเผชิญหน้าในสังคมที่ยังมีปัญหาการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ทำความเข้าใจและเห็นความเป็นมนุษย์ที่ทุกข์ร้อนจากระบบการบริการสุขภาพทั้งทางกาย และจิตใจที่ยังคงมีช่องว่างให้พัฒนา สังคมสามารถขับเคลื่อนไปได้เมื่อทำความเข้าใจและผลักดันไปด้วยกันเพื่อสังคมแห่งความเท่าเทียมทางเพศ เพื่อสุขภาพกายและจิตที่ดีของคนข้ามเพศ และทุกคนในสังคม

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ผู้รับผิดชอบโครงการ: คุณณชเล บุญญาภิสมภาร 092-696-6654 และ

ผู้ประสานงานโครงการ: คุณสุมาลี โตกทอง 086-769-3826