เมื่อพูดถึงฮาร์ดวาร์ด มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของโลกและเก่าแก่ที่สุดของอเมริกา หลายคนคงอยากมีโอกาสได้เข้าไปศึกษาหรือทำงานที่นั่น ซึ่งอาจดูเป็นเรื่องยากสำหรับบางคน โดยเฉพาะคนข้ามเพศ ที่ชีวิตของพวกเขาหรือเธอไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอ แต่สำหรับ Anya Marino และ Alejandra Caraballo ผู้หญิงข้ามเพศผิวสีทั้ง 2 คน สามารถก้าวข้ามผ่านอุปสรรคจนได้มาเป็นอาจารย์ด้านกฎหมายที่ Harvard Law School ได้สำเร็จ
.
Marino อายุ 37 ปี ได้เข้าร่วมใน ใน Harvard’s LGBTQ+ Advocacy Clinic คลินิกกฎหมายเพื่อยกระดับสิทธิของ LGBTQ ส่วน Caraballo อายุ 30 ปี ได้เริ่มสอนที่ Harvard’s Cyberlaw Clinic ซึ่งเป็นคลินิกกฎหมายที่สอนในเรื่องของกฎหมายเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญา โดยเธอทั้งคู่มีความกดดันในฐานะที่พวกเธอเป็นผู้หญิงข้ามเพศเชื้อสายลาตินอเมริกา ซึ่งถือเป็นคนข้ามเพศส่วนน้อยที่ได้รับโอกาสนี้
.
การเปิดรับผู้หญิงข้ามเพศเข้ามาทำงานด้านกฎหมายในมหาวิทยาลัยชื่อดัง นับว่าเป็นก้าวใหม่ของสังคม เนื่องจากที่ผ่านมาคนข้ามเพศมักถูกปฏิเสธทั้งในโรงเรียนและครอบครัว มีคนข้ามเพศจำนวนไม่น้อยที่ต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน หรือหลุดออกจากระบบการศึกษา ทำให้จำเป็นต้องละทิ้งใบปริญญาหรือถูกลดคุณค่าในตัวเอง จึงกลายเป็นอุปสรรคสำหรับคนข้ามเพศที่อยากเข้ามาทำงานด้านกฎหมาย โดย Marino กล่าวว่า “ฉันคิดว่าหนึ่งในปัญหาที่ใหญ่ที่สุดที่เราเห็นจากสมาชิกหลายคนในชุมชนก็คือ วิธีการจัดการในระบบความเป็นจริง ที่ทำให้พวกเขามักถูกต่อต้านอยู่ซ้ำ ๆ”
.
นอกจากนี้คนข้ามเพศที่อยากเข้ามาเป็นอาจารย์ด้านกฎหมาย ยังต้องพบกับอุปสรรคหลากหลายรูปแบบ ทั้งการขอใบรับรองแพทย์ยืนยันภูมิหลังการตรวจสุขภาพจิต หรือการระบุคำนำหน้าชื่อแค่ นาย กับ นางสาว เท่านั้น ซึ่งเป็นแนวคิดที่มาจากกลุ่มเกลียดกลัวคนข้ามเพศ รวมถึงข้อมูลลึกซึ้งที่นักศึกษาต้องการให้มีการเปิดเผยก่อนการสอบเนติบัณฑิต โดย Caraballo กล่าวว่า “เป็นปัญหาสำหรับคนข้ามเพศที่ต้องการที่จะเข้าไปทำงานด้านกฎหมาย… โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณจะไม่ได้เป็นตัวเอง เมื่อต้องเป็นคณะกรรมการเนติบัณฑิตยสภา”
.
ในอดีตที่ผ่านมา Marino เคยมีเรื่องราวฝังใจเกี่ยวกับ Venus ผู้หญิงข้ามเพศที่เป็นเพื่อนสนิทและเติบโตมากับเธอในบัลติมอร์ ซึ่งเธอถูกผู้ชายคนหนึ่งทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิตและจุดไฟเผาเธอในอพาร์ตเมนต์ เหตุการณ์นี้ทำให้ Marino ถามตัวเองถึงความปลอดภัยและอนาคตของตัวเธอเอง “สิ่งที่เกิดขึ้นกับ Venus มันมีอิทธิพลต่อเรื่องราวของฉัน… มันทำให้ฉันอยากสร้างพื้นที่สำหรับเธอ”
.
ส่วน Caraballo มองว่าอาชีพทนายความมีพลัง ตั้งแต่เธออายุ 15 ปี ในตอนนั้นพ่อของเธอประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน ทำให้เขาต้องสูญเสียแขนไปครึ่งท่อน ครอบครัวของเธอได้รับเงินชดเชยเยียวยาจากรัฐบาล แต่หลังจากที่ไม่ได้รับเงินมาหลายสัปดาห์ แม่ของเธอได้โทรหาทนาย จากนั้นทนายได้ติดต่อไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบประมาณ 3-4 วัน ในเวลาราชการ จากนั้นก็มีเช็คเงินสดส่งมาที่ตู้ไปรษณีย์ในทันที “คุณรู้ไหม แค่ได้โทรศัพท์หรือส่งจดหมายไป มันทำให้ฉันเห็นถึงพลังที่กฎหมายมีจริง ๆ”
.
นอกจาก Marino และ Caraballo แล้ว ยังมีคนข้ามเพศที่ได้ทำงานด้านกฎหมายในมหาวิทยาลัยฮาร์ดวาร์ดอีก 2 คน คือ Alexander Chen ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร Harvard’s LGBTQ+ Advocacy Clinic และ Kendra Albert เพื่อนร่วมงานของ Caraballo แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญที่สถาบันที่มีชื่อเสียงเริ่มเปิดรับคนข้ามเพศให้เข้ามาทำงานด้านกฎหมายมากขึ้น
.
โดยรายงานฉบับล่าสุดของ National Association for Law Placement ระบุว่า ปี 2020 มีจำนวนนักกฎหมายที่เป็น LGBTQ เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ถึง 5.3% โดยเป็นปีที่มีจำนวนนักกฎหมายหลากหลายทางเพศมากที่สุดที่เคยค้นพบ ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ว่าจ้างด้านกฎหมายส่วนใหญ่ในอเมริกา มีจำนวนนักกฎหมาย LGBTQ ทั้งหมด 3,187 คน และจากจำนวนทั้งหมดมีผู้ที่เป็นนอนไบนารีเพียง 9 คน เท่านั้น
.
Dru Levasseur กรรมการบริหารด้านความหลากหลายและการยอมรับความแตกต่างแห่ง National LGBT Bar Association กล่าวว่า “การทำงานที่ใดก็ตาม คนข้ามเพศมักจะต้องค้นหาตัวตนของพวกเขา ที่จะสามารถสร้างวิถีทางสำหรับคนรุ่นต่อไป ดูเหมือนว่าพลวัตทางสังคมจะเริ่มก่อตัวขึ้นที่ฮาร์วาร์ดและเคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างช้า ๆ”
.
ทั้งนี้ Albert ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การรับ Marino และ Caraballo เข้ามามีส่วนร่วมในคณะ เป็นช่วงที่เริ่มมีการจ้างคนข้ามเพศเข้ามาทำงาน และไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่จะมีคนข้ามเพศถึง 4 คน เข้ามาเป็นอาจารย์คลินิกด้านกฎหมายในฮาร์ดวาร์ด “นับว่าเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมกว่าข้อผูกมัดเดิม ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สถาบันไม่ใช่สิ่งสำคัญในการกำหนดแนวทางสำหรับการจ้างงานหรือเลื่อนตำแหน่ง ในคณะที่มีความอนุรักษ์นิยมอีกต่อไป”
.
Marino เล่าว่า ช่วงที่เธอเรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ และได้ย้ายไปอยู่ที่ฟลอริดา บ้านเกิดของเธอ ขณะนั้นเธอพบว่าชุมชนคนข้ามเพศที่รายล้อมรอบตัวเธอต่างพูดถึง การหางาน การหาที่อยู่อาศัย และการได้รับความเชื่อถือในสังคม “ฉันตระหนักได้ว่า ฉันมีความหมายและสามารถช่วยเหลือสมาชิกในชุมชน ด้วยการดึงศักยภาพของพวกเขา และให้พวกเขาได้รับการเยียวยา ซึ่งฉันรู้ว่าพวกเขามีสิ่งที่ตั้งเป้าหมายไว้อยู่แล้ว” หลังจากนั้นเธอก็ได้เข้าไปทำงานใน สหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (ACLU) โดยดำรงตำแหน่งรองกรรมการบริหารฝ่ายกฎหมาย ก่อนที่จะเข้ามาเป็นอาจารย์ที่ฮาร์วาร์ด
.
สำหรับ Caraballo เธอใช้เวลาหลายเดือนในปีที่ผ่านมาในการต่อสู้กับประกันที่ครอบคลุมการทำศัลยกรรมใบหน้าของเธอ ซึ่งในที่สุดก็เข้าสู่กระบวนการยื่นอุทธรณ์ต่อศาล ขณะเดียวกัน ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายของเธอ ยังได้ช่วยเหลือคนข้ามเพศคนอื่น ๆ ให้ได้รับสิทธิบริการด้านสุขภาพเกี่ยวกับเพศ “ฉันได้ทำสิ่งที่จะให้สังคมรับรู้ถึงการมีตัวตนของพวกเรา และไม่ว่าฉันจะชอบมันหรือไม่ ฉันก็ได้มาเป็นตัวแทนของพวกเธอทุกคนแล้ว”
.
สิ่งสำคัญที่ Caraballo แนะนำสำหรับการเป็นอาจารย์ที่ฮาร์วาร์ดก็คือ การสอนวัยรุ่นข้ามเพศ ควรแนะนำพวกเขาตามความเป็นจริงแทนที่จะทำให้พวกเขารู้สึกหมดกำลังใจ รวมถึงฝากข้อความเป็นถึงสถาบันอื่น ๆ ในการเปิดรับคนข้ามเพศให้มีอาชีพการงานที่น่าเชื่อถือ “ถ้าคุณอยากให้คนข้ามเพศผิวสีเข้ามาทำงานในด้านกฎหมาย หรือประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน ฉันคิดว่าคุณควรเริ่มต้นอย่างจริงจังได้แล้ว”
.
สำหรับโอกาสที่คนข้ามเพศจะได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในอาชีพนักกฎหมาย Chen กล่าวว่า “ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ ที่รวมถึงการจ้างงานผู้สมัครที่เป็นกลุ่มชายขอบ ซึ่งอาจเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะกับงานนี้ ถึงแม้ว่าจะไม่มีใบปริญญาติดตัวมาด้วยก็ตาม… ถ้าคุณเอาชนะทุกสิ่งที่คุณสามารถเอาชนะได้ คุณก็เป็นผู้หญิงข้ามเพศผิวสีที่ประสบความสำเร็จในด้านกฎหมายได้เช่นเดียวกัน ซึ่งคุณอาจจะมีคุณสมบัติมากกว่าใครบางคนที่ไม่ได้เหมาะสมกับงานตรงนี้เลยก็เป็นได้”
.
อ้างอิง: https://clinics.law.harvard.edu/blog/2021/08/meet-the-first-trans-women-of-color-to-teach-at-harvard-law/
ภาพจาก: https://clinics.law.harvard.edu/blog/2021/08/meet-the-first-trans-women-of-color-to-teach-at-harvard-law/
https://www.nydailynews.com/news/politics/ny-alejandra-caraballo-brooklyn-city-council-candidate-20200907-wjdvaxeuf5hfzkqvpu6mibt3tq-story.html
Follow ข่าวอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่: https://youngprideclub.com/