ติดตามสถานการณ์: #สมรสเท่าเทียม หรือ พรบ.คู่ชีวิต ทางออกที่ยั่งยืนของ LGBTQ ประเทศไทย

by | Sep 7, 2020 | Advocacy, Advocacy, Advocacy, Advocacy, Advocacy, Advocacy, Uncategorized @th | 0 comments

เมื่อวันที่ 28 สิงคาคม 2563 ที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความีหลากหลายทางเพศ ลงพื้นที่จัดเสวนา ‘สมรสเท่าเทียม #เคลื่อนต่อไม่รอแล้วนะ’ ณ ห้องประชุม ณ นิมมาน 1 นิมมาน คอนเวนชัน เซ็นเตอร์

.

บรรยากาศบ้านเมืองปัจจุบันภายหลังการจุดติดกระแสต่อต้านอำนาจเผด็จการ ส่งผลให้การเมืองและการเคลื่อนไหวในภาคประชาสังคมทวีความเข้มแข็งขึ้น รวมไปถึงประเด็นเรื่องสิทธิ LGBTQI+ ที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ทำให้ถูกพูดถึงในวงกว้างมากขึ้น ถึงอย่างนั้นผลลัพทธ์ก็ยังไม่บรรลุเป้าหมายเนื่องจากท่าทีของรัฐบาลที่ยังเพิกเฉยและไม่มีการตอบรับที่ชัดเจนต่อการแก้ไขปัญหาของประชาชนหรือการออกนโยบายที่เป็นรูปธรรมใด ๆ ให้แก่ประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

.

ในขณะที่รัฐสภาได้มีตัวแปลใหม่จากพรรคฝ่ายค้านที่เป็นตัวแทนแห่งความก้าวหน้า อย่างเช่น สส.ที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ สส.ตัวแทนจากชาติพันธ์ุต่าง ๆ แต่กลุ่มที่สามารถเสนอข้อเรียกร้องและดำเนินการได้อย่างรวดเร็วที่สุด คงจะเป็นกลุ่มของผู้มีความหลากหลายทางเพศที่มีการต่อสู้กันมาอย่างยาวนานเพื่อความเท่าเทียมและลดการเลือกปฏิบัติจนสามารถได้มาสู่พระราชบัญญัติคู่ชีวิต หรือ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งเสนอโดยกรมคุ้มครองสิทธิฯ ของกระทรวงยุติธรรม กำหนดให้คู่รัก LGBTQ สามารถแต่งงานและจด ‘ทะเบียนคู่ชีวิต’ ซึ่งอนุญาติไปถึงการจัดการทรัย์สินร่วมกัน เป็นผู้พิทักษ์ตามกฎหมาย รวมถึงการรับมรดกและบุตรบุญธรรม แต่นั่นยังไม่ใช่ ‘ทะเบียนสมรส’ จึงมีข้อจำกัดในการหมั้น การจัดงานศพ การอุ้มบุญ และไม่สามารถรับสวัสดิการหรือเปลี่ยนสัญชาติให้คู่รักเหมือนคู่สมรสชาย หญิง

.

แล้วกลุ่ม LGBTQI+ หล่ะ ? คิดเห็นอย่างไร

.

แน่นอนว่าเสียงจากฝั่งสนับสนุนการแก้กฎหมายสมรสเท่าเทียมในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448ยังคงดังอยู่ต่อเนื่อง เพราะความเห็นของคนกลุ่มนี้สอดคล้องกับเป้าหมายการเคลื่อนไหวของเยาวชนในปัจจุบัน นั่นคือพวกเขาไม่ได้มองเพียงแค่เรื่องสิทธิที่ได้รับเท่านั้นแต่มองไปถึงเรื่องของความยั่งยืนทางกฎหมายและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมระหว่างคนทุกเพศตามรัฐธรรมนูญไทย ในมาตรา 30 ที่ระบุว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะความแตกต่างเรื่องเพศจะกระทำมิได้” ดังนั้น การแก้ไขให้การสมรสของ LGBTQ+ เท่าเทียมกับชายจริงหญิงแท้จึงจะเป็นคำตอบที่ยั่งยืนมากกว่าการร่างพรบ.คู่ชีวิตที่ถูกตราหน้าว่าเป็นการกลัดกระดุมผิดเม็ด

.

อย่างไรก็ตามจากความเห็นในฝั่งที่เสนอว่า พรบ.คู่ชีวิตแม้จะไม่ครอบคลุมสิทธิทั้งหมด แต่ก็เป็นหนึ่งในทางเลือกของกลุ่มคู่รักผู้มีความหลากหลายทางเพศที่มีข้อจำกัดในความเชื่อทางศาสนา หรือ เป็นกลุ่มคนยุคใหม่ที่เลือกจะมีความสัมพันธ์เป็นเพียงคู่ชีวิตไม่ถึงขั้นอยากเป็นคู่สมรส โดยข้อดีของพรบ.คู่ชีวิตที่ถูกเสนอมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 ในยุครัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ความสำเร็จของมันอย่างน้อยคือการรื้อถอนความคิดของสังคมต่อระบบสองขั้วที่แบ่งแยกชายหญิงเท่านั้นให้สั่นคลอนลงไปได้ และบรรยากาศแบบนี้จะส่งผลดีต่อสร้างความเข้าใจในสังคมไทยสมัยใหม่ถึงคำนิยามและการมีอยู่ของกลุ่ม LGBTQI+ อย่างมีมาตรฐานตามหลักสากลและเป็นที่ยอมรับในสังคมโลกโดยไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ 

.

ในท้ายที่สุด แม้จะยังไม่มีข้อสรุปถึงความพึงพอใจในกลุ่ม LGBTQI+ ระหว่างสมรสเท่าเทียมหรือพรบ.คู่ชีวิตอย่างเป็นทางการ แต่นั่นก็คือกระบวนการอันเป็นประชาธิปไตยเช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวอื่น ๆ ที่เรายังต้องจับตาดูกันต่อไปว่าการเคลื่อนที่ของประชาธิปไตยในภาคประชาสังคมที่สุกงอมไปตามยุคสมัยและกำลังเบ่งบานผ่านข้อถกเถียงระหว่างกลุ่มคนหลากหลายอุดมการณ์ จะนำไปสู่สังคมแบบใหม่เช่นใด และเมื่อถึงเวลานั้นคำตอบของการแก้กฎหมายหรือการร่างกฎหมายใหม่ก็คงไม่สำคัญ เพราะเมื่อนั้นมันจะเป็นความยุติธรรมที่กลั่นกรองโดยประชาชนผ่านการใช้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างแท้จริง แล้วคุณหล่ะ คิดเห็นอย่างไรกับประเด็นนี้ ?

.

โดย ป๊อบปี้ ณัฐมน .

อ้างอิงจาก : พงศ์ธร จันทร์เลื่อง,ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์,ศิริศักดิ์ ไชยเทศ. งานเสวนาสมรสเท่าเทียม.จัดโดย คณะกรรมาธิการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กบุ่มชาติพันธ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ. วันที่ 28 สิงคาคม 2563.