สันติ หรือ พุ่งชน ? ทางออกของขบวนการเคลื่อนไหว

สันติ หรือ พุ่งชน ? ทางออกของขบวนการเคลื่อนไหว
: ถอดบทเรียนการประท้วงเพื่อความยุติธรรมของ George Floyd
.
จากกรณีการเสียชีวิตของชายชาวอเมริกาผิวสี George Floyd ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจในเมืองมินนิอาโปลิส รัฐเมนิสโสตานาย Derek Chauvin เข้าจับกุมข้อหาใช้สกุลเงินปลอมซื้อของในมินิมาร์ทซึ่งพนักงานขายเป็นผู้โทรแจ้ง โดยคลิปวิดีโอการกระทำของตำรวจที่คุกเข่าลงบนคอจอร์จอย่างน้อยเจ็ดนาทีในขณะที่เขาถูกใส่กุญแจมือและนอนคว่ำหน้าอยู่บนท้องถนนแล้ว กลายเป็นไวรัลบนอินเทอร์เน็ตและนำไปสู่ความขับแค้นใจจากการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติและการกระทำเกินเหตุของตำรวจผู้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างไรก็ตาม แม้ตำรวจรายนี้จะถูกดำเนินคดีในข้อหาฆ่าคนโดยไม่ได้เจตนาแต่ก็ยังเป็นการลงโทษที่ไม่น่าพอใจนักต่อสายตาประชาชนชาวมินนิอาโปลิสทำให้เกิดการลงถนนประท้วงจนลุกลามไปสู่การก่อจลาจลในที่สุด
.
แม้เหตุการณ์ที่คนผิวสีถูกกระทำรุนแรงเกินกว่าเหตุโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจนบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในประวัติศาสตร์อเมริกา โดยอดีตขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิความเท่าเทียมกันของคนผิวดำที่เรียกว่า ขบวนการสิทธิพลเมือง (Civil Rights Movement) ได้เกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1955-1968 ซึ่งก่อนหน้านี้คนผิวดำและผิวขาวต้องแยกใช้ห้องน้ำ ร้านอาหาร โรงเรียน โรงพยาบาล ย่านที่อยู่อาศัย รถประจำทาง โดยเฉพาะในรัฐทางใต้จะใช้งานร่วมกันไม่ได้ อย่างไรก็ตาม วิธีการประท้วงในช่วงเวลานั้น คือวิธี ‘อารยะขัดขืน’ (civil disobedience) หรือในภาษาพูดที่คนส่วนใหญ่ใช้เรียกกัน หมายถึง ‘การดื้อแพ่ง’ หรือ ‘การขัดขืนอย่างสงบ’
.
โดยเริ่มแรกนักศึกษาผิวดำได้ใช้วิธี “ซิทอิน” (sit in) คือการเข้าไปนั่งเฉย ๆ โดยพากันแต่งตัวเรียบร้อย ใส่สูทผูกไทเข้าไปนั่งในร้านอาหารที่ปฏิเสธคนผิวดำ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้าไปนั่งในทุกที่นั่ง จนไม่มีที่ว่างเหลือจนกระทั่งร้านนั้นไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งภาพของกลุ่มคนที่ใช้ความรุนแรงในอดีตส่วนใหญ่จึงเป็นคนผิวขาว ดังนั้น การต่อสู้เหล่านี้จึงเป็นไปเพื่อกดดันรัฐบาลกลางจนสำเร็จนำมาสู่การออกกฎหมายสิทธิเลือกตั้ง (Voting Rights Act) ค.ศ. 1965 และกฎหมายสิทธิพลเมือง (Civil Rights Act) ค.ศ. 1968 ที่ให้สิทธิเท่าเทียมกันระหว่างคนผิวขาวและคนผิวดำ
.
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่าการได้มาซึ่งสิทธิความเท่าเทียมระหว่างคนเชื้อชาติต่าง ๆ ในอเมริกาไม่เป็นผลเท่าที่ควร ทำให้ความโกรธและความคับข้องใจจากการกดขี่ทางเชื้อชาติมานานหลายศตวรรษปรับเปลี่ยนการประท้วงอย่างสันติกลายเป็น “ความรุนแรง” ขึ้นมา แต่ท่าทีของผู้นำสหรัฐอย่างประธานาธิบดี โดนัลล์ ทรัมป์ก็ไม่ได้แสดงความกังวลต่อเหตุการณ์ครั้งนี้และไม่มีการเสนอแนวทางแก้ไขต่อปัญหาการเหยียดเชื้อชาติอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญต่อการสูญเสียชีวิตของคนผิวดำจำนวนมาก โดยการประท้วงในครั้งนี้ถูกสื่อ(ฝั่งรัฐบาล)หลายสำนักบั่นทอนการเรียกร้องแก้ไขการผูกขาดอำนาจในการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ
.
กล่าวคือ “เจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้ความรุนแรงกับประชาชนได้อย่างถูกกฎหมาย” ซึ่งเห็นได้ชัดในความมอยุติธรรมจากการเสียชีวิตของคนผิวดำรุ่นใหม่ เช่น George Floyd, Breonna Taylor, Eric Garner, Michael Brown, Tamir Rice นั้นไม่ได้ถูกนำเสนอออกไปแต่กลับประโคมข่าวการใช้ความรุนแรงของกลุ่มผู้ประท้วงแทนทำให้ผู้คนอีกจำนวนหนึ่งตั้งคำถามว่าการประท้วงที่นำไปสู่ความเสียหายทางทรัพย์สินและชีวิตในครั้งนี้เหมาะสมแล้วหรือไม่ ? และทำให้เป้าหมายในการประท้วงถูกลดทอนและเลือนลางหายไปตามการเคลื่อนไหวที่กำลังจะจบลง
.
ในท้ายที่สุด เมื่อถอดบทเรียนการประท้วงในสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ผู้เขียนมองว่า สิ่งที่ทุกขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจะต้องตระหนักอยู่เสมอคือวิธีการส่งสารหรือข้อเรียกร้องที่ชัดเจนก่อนจะไปถึงการรวมตัวกันในที่สาธารณะ เพื่อลดความเสี่ยงในการปะทะอารมณ์หรือการใช้ความรุนแรงระหว่างรัฐและผู้เคลื่อนไหว โดยในปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีมากมายเข้ามาอำนวยความสะดวกในการส่งต่อข้อมูลและวางแผนอารยะขัดขืนได้อย่างรอบคอบ
.
นอกจากนี้ ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการเคลื่อนไหวอีกหนึ่งข้อคือการมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ กล่าวคือ ต้องมีผู้แทนในการเจรจาและตัดสินใจอย่างชาญฉลาด โดยผลการวิจัยยื่นยันว่าการเคลื่อนไหวด้วยสันติวิธีมักจะนำไปสู่ความสำเร็จและได้รับความสนใจในการเข้าร่วมมากกว่าการใช้อาวุธและความรุนแรงถึงสองเท่า ยิ่งไปกว่านั้นปัจจุบันสื่อออนไลน์ยังสามารถกำหนดทิศทางให้ผู้คนหลงประเด็นและเข้าใจผิดได้ง่ายขึ้นเมื่อพบเห็นความรุนแรงบนโลกออนไลน์ ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมโดยคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็สามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าปัญหาที่อยู่ซุกใต้พรมเหล่านั้นจะถูกนำออกมาปัดกวาดแน่นอน
.
โดย ป๊อบปี้ ณัฐมน นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาสตรีและเพศภาวะศึกษา มช.
.
อ้างอิงจาก : Dylan Scott. Violent protests are not the story. Police violence is. https://www.vox.com/2020/5/30/21275507/minneapolis-george-floyd-protests-police-violence?fbclid=IwAR37vHOklJaiOiS3OiX0vYxTa55y7BAzT-Uqw3H1H0pqIal9Kovy_gNAl98
: BBC News. George Floyd: What happened in the final moments of his life. https://www.bbc.com/news/world-us-canada-52861726
: Wikipedia. การดื้อแพ่ง (civil disobedience). https://th.wikipedia.org/wiki/การดื้อแพ่ง.
: David Robson. Nonviolent protests are twice as likely to succeed as armed conflicts – and those engaging a threshold of 3.5% of the population have never failed to bring about change.https://www.bbc.com/future/article/20190513-it-only-takes-35-of-people-to-change-the-world