
Corona Divorce เมื่อโคโรน่าเข้ามา ชีวิตสมรสก็จากไป คู่รักญี่ปุ่นคิดเรื่องหย่าร้างเหตุจากทนกักตัวร่วมกันไม่ไหว
.
“สามีนอนเกลือกกลิ้งอยู่กลางห้องรับแขก เปิดทีวีทั้งวัน”
“สามีไม่ยอมล้างมือให้เรียบร้อย ไม่ยอมใส่หน้ากากอนามัยอย่างจริงจัง”
“ฉันรู้สึกกลัวความประพฤติของสามีที่ไม่ตื่นตัวต่อสถานการณ์ฉุกเฉินแบบนี้ บางทีฉันอาจต้องทบทวนอนาคตของตัวเองใหม่แล้วล่ะ”
.
ตั้งแต่โคโรน่าโจมตีญี่ปุ่น #Coronarikon (แปลตรงกับภาษาอังกฤษว่า Corona Divorce) ก็ปลิวว่อนทั่วทวิตเตอร์ แม่บ้านหลายคนเริ่มทวีต
.
หลังจากที่สังเกตุการณ์เหตุการณ์นี้มาสักครู่หนึ่ง บริษัทชื่อ Kasoku ตัดสินใจพลิกวิกฤติเป็นโอกาสด้วยการเสนอบริการให้เช่าห้องคืนละ 4,400 เยน (ประมาณ 1,300 บาท) เพื่อให้คนที่ไม่สามารถทนอยู่กับสามีภรรยาของตนเองได้มาใช้บริการเป็นที่หลบภัยชั่วคราวจากสามีภรรยา
.
โดยเป็นห้องพักที่มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำงานแบบออนไลน์ มี Wi-fi พร้อมทั้งมีบริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับชีวิตครอบครัวฟรี 30 นาทีเพื่อลดระดับความรุนแรงของความคิดที่ต้องการหย่าร้าง ทางบริษัทเปิดเผยว่าตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน ก็มีลูกค้าผู้หญิงหลายคนมาใช้บริการ
.
โดยหนึ่งในนั้นมาเพราะว่าเหนื่อยมากกับการที่ลูกๆอยู่บ้านทั้งวันเพราะต้องกักตัวจากที่ปกติลูกๆจะไปโรงเรียน ทำให้เวลาส่วนตัวของแม่บ้านหายไปโดยสิ้นเชิง ส่วนหนึ่งของความอึดอัดนี้น่าจะมาจากการที่ห้องเช่าและบ้านในญี่ปุ่นค่อนข้างแคบ
.
เมื่อทุกคนมาอยู่รวมกันที่บ้านจึงเป็นความน่ารำคาญเกินบรรยายสำหรับผู้หญิงญี่ปุ่นที่มักโดนคาดหวังให้มีบทบาททางสังคมเป็นแม่บ้านเต็มตัว อย่างไรก็ตาม ลูกค้าที่เป็นผู้ชายก็มีมาใช้บริการและปรึกษาเช่นกัน โดยลูกค้าทั้งชายและหญิงอยู่ในวัยทำงานคือช่วงอายุ 30 ปี ถึง 50 ปี
.
ก่อนที่คำว่า “Corona Divorce” จะมาฮิต ในช่วงปี 1980s ก็มีคำหนี่งที่เคยติดกระแสในญี่ปุ่นมาแล้ว คือคำว่า “Narita Divorce” ซึ่งเกิดจากกระแสสังคมที่คู่รักชาวญี่ปุ่นตัดสินใจหย่าร้างกันหลังจากไปฮันนีมูนด้วยกันแล้วกลับมาลงจากเครื่องที่สนามบินนาริตะ ด้วยความที่อยู่ด้วยกันตลอดทั้งทริปทำให้รู้ซะแล้วว่านิสัยของแต่ละคนเป็นยังไง ชวนให้คิดว่าคงไม่มีทางร่วมเดินไปด้วยกันได้แน่ เลยตัดใจหย่าตอนกลับถึงสนามบินซะเลย
.
โดยเฉลี่ยในแต่ละปีที่ผ่านมา 35% ของการแต่งงานในญี่ปุ่นจบลงด้วยการหย่าร้าง แม้จะถือว่าน้อยกว่าอเมริกาซึ่งอยู่ที่ 41% แต่ก็ถือว่าไม่ใช่น้อยเพราะนั่นหมายความว่า ทุกๆ 1 ใน 3 คู่ไม่สามารถไปกันรอด
.
เป็นที่น่าสนใจว่าอัตราส่วนนี้จะเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่กว่าที่สถานการณ์จะคลี่คลาย นอกจากนี้เหตุปัจจัยของการหย่าร้างนั้นหลักๆคือสามีภรรยามีความตื่นกลัวระวังภัยในระดับที่ไม่เท่ากัน ทำให้เกิดความเครียดในครอบครัว เช่นภรรยากลัวติดเชื้อมาก แต่สามีไม่กลัวจึงไม่รักษาความสะอาดเท่าระดับที่ภรรยาคาดหวัง นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ว่าสาเหตุของการหย่าร้างอาจมาจากการที่คู่ชีวิตตกงานเนื่องจากพิษเศรษฐกิจที่โคโรน่าเป็นเหตุ
.
ฟังแล้วรู้สึกว่าโคโรน่าน่ากลัวกว่าที่คิด เพราะนอกจากทำลายปอดแล้ว ยังลามมาทำลายหัวใจของคน (เคย) รักกันด้วย
คนที่กักตัวอยู่ร่วมกับคนในครอบครัว อยู่บ้านเดียวกัน หนักนิดเบาหน่อยก็ขอให้ให้อภัยกันไปนะคะ
จะว่าไปสถานการณ์ในไทยตอนนี้เป็นแบบเดียวกันกับญี่ปุ่นมั้ยนะ อยากรู้จัง
โดย คอลัมน์นิจ
.
อ้างอิง:
- https://www.scmp.com/week-asia/health-environment/article/3081736/corona-divorce-trends-japan-couples-lockdown-grow-fed
- https://www.japantimes.co.jp/news/2020/04/26/national/social-issues/coronavirus-divorce-tokyo-marriage-japan/#.Xq2frqgzY2w
- https://www.japantimes.co.jp/news/2020/04/16/national/social-issues/worried-coronavirus-divorce-japanese-company-offers-couples-separate-apartments-quarantine-apart/#.Xq2g66gzY2w
.
Follow ข่าวอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่: https://youngprideclub.com/
Facebook & Instagram & Twitter: @YoungPrideClub #YoungPrideClub #สังคมญี่ปุ่น