เพศศึกษา ในภาวะ Lockdown เมื่อผู้ปกครองต้องพูดเรื่องเพศกับลูก

by | May 22, 2020 | Love, Media, Play, Society, Talk | 0 comments

เพศศึกษา ในภาวะ Lockdown เมื่อผู้ปกครองต้องพูดเรื่องเพศกับลูก
.
จากภัยโรคระบาดที่ยังคงไม่มีท่าทีจะเรียบร้อย ได้ส่งผลให้สถานศึกษาและโรงเรียนต่างปิดชั่วคราวแทบทั้งหมด เพื่อเลี่ยงการระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยเหตุนี้การเรียนการสอนทั้งหมดจึงอยู่ในรูปแบบการเรียนระยะไกล (Distance Learning) หรือการเรียนจากที่บ้านผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
.
ปัญหาการเรียนทางไกลนั้นอาจจะมีทั้ง ปัญหาด้านเทคนิค ด้านอุปกรณ์ หรือแม้กระทั่งสมาธิที่ขาดๆ หายๆ ของผู้เรียนที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงวัย แต่ทว่าสำหรับคุณแม่รายอังกฤษรายหนึ่งกลับประสบปัญหาว่า “เธอจะสอนเพศศึกษาให้กับลูกสาววัย 10 ขวบของเธออย่างไร?”
.
คุณแม่รายนี้ได้โพสหาคำปรึกษาความว่า “ลูกสาววัย 10 ขวบของเธอกำลังจะต้องเริ่มเรียนวิชาเพศศึกษา…ผู้ปกครองคนอื่นอาจใช้วิธีการให้หนังสือเด็กกับลูกๆ แต่ฉันรู้สึกอยากจะสอนเรื่องเพศให้กับลูกของฉันด้วยตนเอง ฉันต้องการให้เธอเข้าใจ ‘กลไก’ ของเซ็กส์ แต่ก็ยังอยากให้เข้าใจว่ามันเป็นเรื่องของความรักและความหฤหรรษ์ ไม่ใช่เพียงแค่การสืบพันธุ์…ฉันต้องการให้เธอพัฒนามุมมองเกี่ยวกับชีวิตเซ็กส์ของเธออย่างปลอดภัยและสนุกกับมันเมื่อโตขึ้น ฉันต้องการปรึกษาว่าควรจะเริ่มสนทนากับลูกอย่างไรให้เธอเข้าใจทั้งในระดับวิทยาศาสตร์และในทางความรู้สึก (Emotional Level) ด้วย”
.
Pamela Stephenson นักจิตวิทยาบำบัดผู้เชี่ยวชาญเรื่องปัญหาทางเพศ ได้ให้คำปรึกษาแก่คุณแม่รายนี้ว่า “คุณไม่ควรกังกวลมากเกินไป…คุณรู้จักลูกสาวของคุณดีที่สุดและเข้าใจดีว่าข้อมูลมากแค่ไหนที่ควรจะบอกเธอในแต่ละช่วง อาจมากบ้างน้อยบ้าง เพศศึกษามักเน้นความเข้าใจมากกว่าการพยายามอธิบายทุกสิ่งอย่างในครั้งเดียว ซึ่งอาจก่อให้เกิดความกังวลและขวยเขินระหว่างผู้ปกครองกับเด็กบ้าง ดังนั้น คุณควรสร้างบรรยากาศที่ทำให้ลูกสาวของคุณรู้สึกปลอดภัยและอยากที่จะถามคำถามพวกนั้นกับคุณ วิธีการแบบนี้เหมาะกับการใช้สอน เช่น ในขณะที่เธอเห็นบางอย่างที่ไม่เข้าใจในโทรทัศน์หรืออินเตอร์เน็ต เธอจะถามคุณและคุณก็จะสามารถตอบคำถามได้อย่างเป็นธรรมชาติ นี่เป็นแนวทางที่ดีที่สุดในตอนนี้”
.
กล่าวคือ หากผู้ปกครองจะต้องพูดเรื่องเพศกับลูก จำเป็นที่จะต้องสร้างบรรยากาศและความสัมพันธ์ที่เป็นธรรมชาติ และสามารถให้มีการแลกเปลี่ยนกันอย่างไม่เขินอายในประเด็นทางเพศ
.
หากย้อนกลับมามองที่การศึกษาเรื่องเพศของประเทศไทย จากผลสำรวจขององค์การยูนิเซฟ (UNICEF)ในปี 2017 พบว่าการศึกษาเรื่องเพศของประเทศไทยในด้านสิทธิทางเพศ ความเท่าเทียมทางเพศ ความรับผิดชอบในการเจริญพันธุ์ และการเคารพความหลากหลายทางเพศต่ำกว่าเกณฑ์ จึงไม่ต้องนึกถึงการพูดเรื่องเพศได้อย่างเปิดเผยในการเรียนการสอน แทบจะเป็นไปไม่ได้
.
การเรียนออนไลน์หรือการเรียนทางไกลเป็นการปรับเปลี่ยนโลกทัศน์ (Paradigm Shift) ของการศึกษา ที่ไม่ได้ยึดโยงอย่างเหนียวแน่นระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนอีกต่อไป ผู้เรียนมีอิสระและมีเวลามากขึ้นในการศึกษานอกห้อง อาจหมายรวมไปถึงเรื่องเพศสำหรับนักเรียนในวัยเจริญพันธุ์ทั่วไป ที่่มักจะปรึกษากับเพื่อนหรือรุ่นพี่มากกว่าผู้ปกครอง ซึ่งนี่อาจเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ปกครองที่จะให้คำปรึกษาเรื่องเพศกับลูกในช่วงของการกักตัวนี้
.
เรื่องเพศเป็นเรื่องที่ต้องพูด และยอมรับว่ามันเป็นธรรมชาติวิถีของมนุษย์ ที่จะต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างกันในทางเพศ การวางพื้นฐานให้เด็กเข้าใจและมีมุมมองแง่บวกต่อเซ็กส์ ทำให้เป็นเรื่องปกติธรรมชาติ ให้เขาเข้าใจการทำงานและการควบคุมความรู้สึกทางเพศอย่างเหมาะสม จึงจะเป็นเกราะป้องกันความเข้าใจที่ผิดที่เกิดจากความหวาดกลัว เขินอายและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จนนำไปสู่การลองผิดลองถูกที่ใช้ต้นทุนความเสี่ยงสูงเหลือเกิน
.
เขียน: หมึกกระฉอก
.
อ้างอิง:
https://www.theguardian.com/lifeandstyle/2020/apr/21/how-do-i-teach-my-daughter-sex-education-while-under-lockdown
.
https://www.voicetv.co.th/read/518344
.
Follow ข่าวอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่: https://youngprideclub.com/
Facebook: https://www.facebook.com/YoungPrideClub/
Instagram: https://www.instagram.com/youngprideclub/
Twitter: https://twitter.com/YoungPrideClub

YoungPrideClub #Sex #Sexeducation #Covid19 #เรียนออนไลน์